“แม้ยังไม่รู้สาเหตุหลักคืออะไร แต่ที่รู้แน่ ๆ คือ “มันไม่ปกติ” เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ของ ศ.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ในรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” โดยชวนสังคมโฟกัสไปที่ ”ผนังปล่องลิฟต์ที่ลดความหนาลง 5 เซนติเมตร กำลังของปูนในการรับน้ำหนัก รายละเอียดการเสริมเหล็กในปล่องลิฟต์ ตำแหน่งของปล่องลิฟต์ และคุณภาพตัวต่อเหล็ก“ ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุให้ตึก สตง.ถล่ม
“ผนังปล่องลิฟต์” จุดเริ่มของหายนะ
ศ.อมร ยืนยันว่า ข้อมูลในวงการวิศวกรรมตอนนี้ค่อนข้างชัดว่า
จุดเริ่มต้นของการถล่มคือผนังปล่องลิฟต์ด้านหลังของอาคาร
และนั่นคือจุดที่ “ไม่ควรพัง” มากที่สุด เพราะตามหลักการออกแบบ
ปล่องลิฟต์ต้องแข็งแรง รับแรงได้มาก และเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักสำคัญ
“ปล่องลิฟต์ควรเป็นส่วนที่แข็งที่สุด แต่กลับกลายเป็นจุดที่พังก่อน”
คำถามใหญ่จึงย้อนกลับไปที่ขั้นตอน ออกแบบ
ผนังปล่องลิฟต์ต้องผ่านการจำลองแรงจากแผ่นดินไหว ใช้โปรแกรมวิเคราะห์ และเลือกความหนาเหล็ก ปริมาณเหล็ก คอนกรีตตามสเปกที่รับแรงได้ แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีคำชี้แจงจากผู้ออกแบบ
⸻
ลด 5 เซนฯ แต่สะเทือนทั้งอาคาร
จากเอกสารที่ สตง. ส่งให้กรรมาธิการฯ พบว่ามีการ “แก้แบบ” ลดความหนาผนังปล่องลิฟต์จาก 30 เซนติเมตร เหลือ 25 เซนฯ เฉพาะบางจุด แม้จะแค่บริเวณ “โถงทางเดิน” เพื่อให้ได้ความกว้างตามกฎหมาย แต่ ศ.อมร ย้ำว่า การลดนี้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างแน่นอน
คำถามต่อไปคือ
ใครเป็นคนอนุมัติให้แก้แบบ? และผู้ออกแบบเดิมรับทราบหรือไม่?
ในเอกสารกลับพบลายเซ็นของวิศวกรคนหนึ่ง ซึ่งออกมาบอกว่า “ถูกปลอม”
“คนคุมงานไม่มีสิทธิ์อนุมัติแบบ…แล้วใครเซ็นให้ผ่าน?”
ศ.อมรย้ำว่า
“การแก้แบบไม่ใช่หน้าที่ของวิศวกรควบคุมงาน แต่เป็นเรื่องที่ต้องย้อนไปให้ผู้ออกแบบเดิมพิจารณา”
ถ้ามีการอนุมัติโดยที่คนออกแบบไม่รู้…มันคือปัญหาทางจริยธรรมและกฎหมาย
⸻
ระบบเดินเอกสารอีรุงตุงนัง…วงการสั่นสะเทือน
หลังมีการตรวจสอบ ข้อมูลเริ่มปรากฏมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มีการปลอมลายเซ็นในเอกสารราชการ คนควบคุมงานเซ็นแทนผู้ออกแบบ วิศวกรอ้างว่าไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีชื่อเขาในเอกสาร ไม่เคยมีส่วนร่วมกับโครงการนี้ ล้วนเป็นคำถามที่ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างทั้งสิ้น
”ในเอกสารมีลายเซ็นของวิศวกรในฐานะผู้ควบคุมงาน ยิ่งงงไปใหญ่ว่าทำไมมาเป็นผู้ควบคุมงานและวิศวกรคนนี้ยังบอกถูกปลอมลายเซ็นอีก จึงเป็นเรื่องที่อีรุงตุงนังไปหมด และความจริงคนควบคุมงานก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขแบบ เพราะการแก้ไขแบบต้องย้อนไปให้ผู้ออกแบบเดิม แต่ตอนนี้ไม่รู้เลยว่าผู้ออกแบบเดิมอยู่ตรงไหนในกระบวนการนี้“
ศ.อมร สรุปแบบยังงุนงงกับระบบที่เกิดขึ้น
คำถามจึงไม่ใช่แค่ “ตึกพังเพราะอะไร” แต่ต้องถามว่า
เกิดปัญหาอะไรกับระบบควบคุมมาตรฐานงานก่อสร้างไทย…?
“เรื่องนี้ไม่มีใครไม่รู้…เพราะเป็นเอกสารขออนุมัติของทางราชการ”
เขาย้ำว่า ต้องขุดให้ถึงรากของระบบที่อนุญาตให้ “การปลอมชื่อ – แอบอ้างลายเซ็น เป็นเรื่องที่สภาวิศวกรจะต้องเข้าไปตรวจสอบด้วยเพราะเป็นเรื่องของวิชาชีพ”
⸻
คนคือ “ต้นเหตุ” ที่ซ่อนอยู่คือ “ลดต้นทุน-ทุจริต?”
ผู้ร้ายตัวจริงใกล้ปรากฏโฉมแล้ว
ศ.อมร บอกด้วยว่า ต้องไปตรวจสอบต่อว่า วิศวกรที่อ้างว่าถูกแอบอ้างลายเซ็น ที่ผ่านมาเขาเคยถูกแอบอ้างหรือไม่ จะลุกลามไปหมด เราไม่รู้ว่ากระบวนการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มแรกเลยมีการขอแก้ไขอะไรอีก ในรูปแบบไหน เรียกได้ว่าคงต้องตามขุดอีกเยอะ ระบบระเบียบหรือการเดินเอกสารมีความไม่ปกติ เรื่องนี้เป็นมาตรฐานทางวิศวกรรมที่มีปัญหา ซึ่งก็อยู่ที่คน การปลอมลายเซ็นผิด พ.ร.บ.วิศวกร
”ผู้ร้ายตัวจริงน่าจะใกล้ปรากฏโฉมออกมาแล้วว่าคือใคร? เรื่องนี้ไม่มีคนไม่รู้ไม่ได้ เพราะเป็นการทำเอกสารที่ขออนุมัติ การควบคุมมาตรฐานคนที่มาทำงานเป็นเรื่องใหญ่ เป็นแบบเดียวกับพระรามสอง พระรามสาม ซึ่งเราไม่รู้เบื้องหลังคนมีการลดต้นทุน มีการทุจริตคอร์รัปชันด้วยหรือไม่ เรามาเห็นตอนท้ายว่าคนทำงานมีปัญหา คนมักง่าย ไม่ทำให้ถูกต้องตามระบบ นี่คือเรื่องใหญ่ของวงการวิศวกรรม”
———-
เปิดมุมมืดแวดวง “วิศวกร” รับจ้างเซ็นมีเยอะ
ส่วนข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดต้องใช้ชื่อวิศวกรคนดังกล่าวในเอกสาร เป็นไปได้หรือที่เจ้าตัวจะไม่รู้นั้น ศ.อมร บอกว่า มีคนตั้งข้อสังเกตเพราะคิดได้หลายมุมว่า ทำไมต้องเป็นชื่อนี้ซึ่งเจ้าตัวก็ต้องไปอธิบายที่ดีเอสไอ ระหว่างคนที่ถูกปลอมกับคนที่นำลายเซ็นไปใช้ ต้องไปเคลียร์กันเอง “ในแวดวงวิศวกรรมไม่ใช่เฉพาะกรณีนี้ ก็มีการแอบอ้างชื่อ ปลอมใบอนุญาต มีหลายรูปแบบคนที่ถูกอ้างอาจไม่รู้ แต่เคยทำงานกันมาก่อน มีใบอนุญาตให้เขาไว้ในโครงการก่อน แต่อาจมีการนำไปใช้ต่อโดยเจ้าตัวไม่รู้ หรือ มีแบบรับจ้างเซ็นก็มีเยอะ เต็มใจให้เขาเอาใบอนุญาตไปแต่ไม่เคยเข้าไปดูงานเลย ซึ่งกรณีเหล่านี้สภาวิศวกรก็ต้องเรียกสอบเพราะเป็นเรื่องวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง“
———-
คอนกรีต…ตัวแปรลับที่อาจทำให้ตึกพัง
แม้เหล็กที่ใช้ในปล่องลิฟต์จะผ่านมาตรฐาน แต่กำลังอัดของปูนคอนกรีตคือจุดที่น่าสงสัย เพราะในพื้นที่ที่แคบและบางเช่น ปล่องลิฟต์ หากใช้ปูนสเปกสูง ต้อง “ใส่น้ำน้อย” และ “เทยาก”
“แล้วจะมีใครแอบเติมน้ำให้เทง่ายขึ้นหรือไม่? ถ้าใช่…ก็เท่ากับลดความแข็งแรงของปูนทันที”
และที่น่ากังวลคือ สตง. นำผลทดสอบปูนมาโชว์
แต่กลับเป็นผลทดสอบ “ของพื้น” ไม่ใช่ “ของผนังปล่องลิฟต์”
⸻
90 วันเพื่อความจริง…แต่อย่าชี้นำก่อนเวลา
รัฐบาลกำหนดกรอบเวลา 90 วัน ให้ 4 มหาวิทยาลัยทำแบบจำลองและวิเคราะห์ ศ.อมรเห็นว่าช่วงเวลานี้เหมาะสม เพราะ
“เรารู้อะไรมากขึ้นทุกวัน เหลือแต่ปริศนาเรื่องปูนเท่านั้นที่ยังไม่ชัด”
แต่เขาก็เตือนว่า
“คนมีชื่อเสียงอย่าชี้นำ เพราะถ้าพูดผิด คนผิดจะรอด“
⸻
สรุป “พัง” จากอะไร? ต้องแยกแยะทีละจุด
ศ.อมร สรุปว่า ยังไม่สามารถฟันธงสาเหตุได้ แต่ปัจจัยที่ต้องไล่ตรวจสอบ ได้แก่
• ความหนาของผนังปล่องลิฟต์ที่ลดลง
• กำลังอัดของปูน
• รายละเอียดการเสริมเหล็ก
• ตำแหน่งของปล่องลิฟต์
• คุณภาพวัสดุต่อเหล็ก
• การเคลื่อนตัวของเครน
ต้องสร้างแบบจำลอง แล้ว “ถอดทีละปัจจัย” ถึงจะสรุปได้ว่าอะไรคือ ต้นเหตุ และอะไรคือ ตัวเร่ง หรือทุกปัจจัยร่วมกัน
————
ปัญหาใหญ่ “ปล่องลิฟต์” ไม่ใช่จุดแข็งแรงที่สุดอีกแล้ว
หลังเกิดเหตุการณ์สมาคมฯ ตรวจสอบหลายตึกพบว่าปล่องลิฟต์มีปัญหา หลายตึกเสียหายเยอะมาก โดยส่วนใหญ่ที่พบคือคุณภาพปูนมีปัญหามาก เป็นปัญหาใหญ่มาก เหมือนเส้นผมบังตา “เป็นเรื่องน่ากลัว เพราะถ้าแผ่นดินไหวมาอีก ปล่องลิฟต์ถล่มโครงสร้างถล่มได้ทั้งหลัง จึงน่ากังวล เพราะแทนที่จะเป็นจุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อนแอของอาคารไปแล้ว” ศ.อมร บอกว่าต่อจากนี้จะได้มีการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องนี้ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ สกสว. น่าจะให้งบประมาณศึกษาเรื่องนี้ เพื่อดูแนวทางยกระดับเสริมความมั่นคงปล่องลิฟต์ในอาคารอย่างไร “วันพรุ่งนี้ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นจะมาคุยกับผมก็จะขอความเห็นว่ามีวิธีการเสริมกำลังปล่องลิฟต์อย่างไร เพราะญี่ปุ่นมีประสบการณ์เกี่ยวกับแผ่นดินไหว เราต้องรีบแก้ไขปัญหานี้ เพราะภัยพิบัติเตือนเราแล้วมีปัญหาปล่องลิฟต์ ปล่อยไปไม่ได้ เพราะแผ่นดินไหวใหญ่กว่านี้ยังมี”
ศ.อมร สรุปปิดท้ายว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความอ่อนแอในเชิงโครงสร้าง ที่เราต้องเตรียมความพร้อม “เรื่องอาคาร สตง.ต้องขุดให้ลึกลงไปว่ารากเหง้าของปัญหา คน หรือระบบ หรือการประมูล หรือปัญหาที่ขั้นตอนทางวิศวกรรม ซึ่งสุดท้ายก็ต้องเจอคนผิดจนได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องทางวิศวกรรมคงปกปิดไม่ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องทางเทคนิควิศวกรรม ผู้ทรงคุณวุฒิก็มีความน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงทางวิศวกรรมคงปกปิดไม่ได้ แต่ข้อเท็จจริงด้านอื่นผมไม่ยืนยัน”