ผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภคออกโรงท้วงติงกระทรวงพลังงาน กรณีการลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จำนวน 5,200 เมกะวัตต์ โดยไม่มีการประมูลและไม่มีการเปิดเผยเกณฑ์การพิจารณาใด ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงเกินความจำเป็น
อาจารย์ประสาท อ้างถึงหนังสือร้องเรียนที่สภาฯ ส่งถึงกระทรวงพลังงานตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีคำชี้แจงใด ๆ กลับมา ทั้งที่ข้อเรียกร้องหลักมีสาระสำคัญ 2 ประเด็นใหญ่ และกลายมาเป็นปัญหาในปัจจุบันที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขคือ…
- ราคารับซื้อไฟฟ้าแพงเกินจริง:
กระทรวงพลังงานชี้แจงว่าราคา 2.18 บาทต่อหน่วยไม่แพงจะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง เพราะกฟผ.รับซื้อทั้งระบบในราคา 3 บาทต่อหน่วย เมื่อซื้อใหม่ในราคา 2.17 บาทต่อหน่วย ค่าไฟก็จะถูกลง
แต่อาจารย์ประสาท ชี้ว่าอัตรารับซื้อที่ 2.17 บาทต่อหน่วยนั้นสูงเกินไป หากเทียบกับราคาที่ประเทศอื่นสามารถทำได้ เช่น อินเดียประมูลได้เพียง 1 บาทต่อหน่วย และยังมีกรณี 1.44 บาทที่รวมแบตเตอรี่ซึ่งจ่ายไฟได้ 24 ชั่วโมง ส่วนเยอรมันที่มีศักยภาพแสงอาทิตย์ต่ำกว่าประเทศไทย ยังสามารถประมูลได้ในราคาต่ำกว่าคือ 1.83 บาทต่อหน่วย ขณะที่ประเทศแถบทะเลทรายฮารา ราคาประมาณ 0.5 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
“การประมูลของทั้ง 3 ประเทศที่อ้างาถึงนั้น เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2567 แต่ของไทยเรากว่าจะได้ขายไฟฟ้ากันจริงก็ประมาณปี 2569-2570 ในขณะที่ต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์จะมีราคาลดลงประมาณ 8-9% 9 ต่อปี ทำไมเรื่องแค่นี้ กระทรวงพลังงานและ สนพ.ไม่เข้าใจ ไปกินยาอะไรมาถึงได้โคตรวิบัตได้ขนาดนี้?”
- กระทรวงพลังงานอ้างตรรกะบิดเบี้ยว:
อาจารย์ประสาท ตั้งคำถามว่า “เหตุใดจึงไม่เปิดประมูล” และ “ทำไมจึงซื้อแพงกว่าประเทศที่มีศักยภาพแสงอาทิตย์น้อยกว่า” อีกทั้งไม่มีการเปิดเผยเกณฑ์การพิจารณาด้วย
ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่า หากยังเดินหน้าในราคานี้ ประชาชนจะต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงเกินจริงกว่า 65,000 ล้านบาทตลอดอายุสัญญา 25 ปี