.
นักวิชาการ TDRI แนะ รัฐบาลแพทองธาร จูนนโยบายกับแบงก์ชาติ อย่าใช้วิธีปะทะทางความคิด ต้องหาจุดสมดุลร่วมกัน
อาจเรียกว่าเริ่มเปิดเกมรุกแรงและเร็วจริง ๆ สำหรับรัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินการคลัง โดยพุ่งเป้าไปที่ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติแบบเต็ม ๆ หลังผู้ว่าแบงก์ชาติ แสดงความเห็นที่ดูเหมือนจะไม่เข้าหูคนในรัฐบาลเท่าไหร่ กรณีระบุว่า “เศรษฐกิจไทยไม่ควรโตแบบมุ่งเน้นล่าตัวเลขการเติบโตของ GDP…” จนทำให้นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ออกมาตอบโต้ด้วยถ้อยคำแรง ๆ ถามกลับไปว่า “ผู้ว่าแบงก์ชาติจบจากที่ไหน เป็นความคิดที่ผิด เพราะ GDP คือรายได้ของประเทศ…” แถมท้ายว่าเร็ว ๆ นี้จะหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติ พร้อมเรียกร้องให้แบงก์ชาติเสียสละลดดอกเบี้ย รวมถึงดูค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป
.
เกิดคำถามว่าเริ่มแรกก็ท้ารบกับแบงก์ชาติซะแล้ว ท่าทีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติจะมีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ แนวทางที่จะทำให้ทำงานร่วมกันได้บนผลประโยชน์ขอประเทศชาติควรวางจุดสมดุลอย่างไร
.
The Publisher ได้สัมภาษณ์ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส TDRI อาจารย์ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า สิ่งที่ผู้ว่าแบงก์ชาติพูดไม่ผิด เพราะ GDP เป็นดัชนีที่ทำให้เห็นภาพรวมเศรษฐกิจ แต่ถ้ามอง GDP อย่างเดียวอาจจะได้ภาพที่ไม่ครบ ยังไม่ได้บอกถึงหายอย่างที่ซ่อนอยู่ เพราะ GDP โตดี แต่ท้ายที่สุดอาจไม่ดีต่อประชาชนไปเสียทั้งหมด หรือหากต่ำก็อาจจะไม่ได้แย่เสมอไป มีงานวิจัยหลายอย่างที่พยายามไปไกลกว่านั้น
.
“มีทั้งที่มองว่า GDP เป็นการเติบโตที่เน้นเงินอย่างเดียว แต่ไม่ได้ดูถึงปัจจัยอื่น ๆ นอกเหนือจากเงิน เช่น เราไม่รู้ว่าคนที่สร้าง GDP มีความสุขแค่ไหน เราไม่รู้ว่า GDP ที่ได้มามันแลกมาด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน หรือแม้แต่การกระจายตัวของเค๊กในภาพรวมมันตกไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึงหรือไม่ เพราะฉะนั้นข้อเน้นของผู้ว่าแบงก์ชาติ จึงไม่ใช่ว่าให้เราโยน GDP ทิ้งไปเลย แต่ไปมอง GDP อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ”
.
ดร.นณริฏ อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าง เวทีที่ผู้ว่าแบงก์ชาติพูดเรื่องดังกล่าว เป็นเวทีเรื่องท้องถิ่นจึงมีประเด็นสอดคล้องกับการพัฒนาท้องถิ่น เพราะเศรษฐกิจไทยไปได้ดีต้องดูด้วยว่าเศรษฐกิจระดับรากหญ้าไปได้ด้วยหรือเปล่า ต้องดูว่าเป็นการโตแบบไม่เท่าเทียมในเชิงพื้นที่หรือไม่ เป็นการฉุกคิดว่าอย่าหลงลืมไปมองแต่ GDP อย่างเดียวแต่ไม่ได้ดูว่ายังมีมิติอื่น ๆ ที่ยังหลงลืมไป อาจารย์ยังแนะนำให้รมว.พาณิชย์ใจเย็น ๆ ต้องดูบริบทที่ผู้ว่าแบงก์ชาติพูดด้วย
.
ส่วนที่จะมีการนัดหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาตินั้น เห็นว่า การพูดคุยกันเป็นสิ่งสำคัญ เพราะกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวข้องกับการค้าขายและราคาสินค้า ซึ่งเป็นบทบาทที่สอดคล้องกับแบงก์ชาติที่คุมเงินเฟ้อ การคุยกันไม่ผิดแต่ควรคุยกันดี ๆ ว่าเหตุผลความจำเป็นคืออะไร เชื่อทั้งรมว.พาณิชย์และผู้ว่าแบงก์ชาติไม่มีเจตนาร้าย แต่บางทีการสื่อสารอาจไม่ชัดเจน และเรื่องบริบทที่ไม่เข้าใจกัน
.
หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีการปรับจูนนโยบายให้เข้ากันระหว่างรัฐบาลกับแบงก์ชาติ ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องเอาหลักฐานทางวิชาการมาคลี่ดู เพื่อหาคำตอบร่วมกัน เพราะนโยบายที่ดีที่สุดคือนโยบายการเงินกับการคลังต้องไปในทางเดียวกัน เปรียบเสมือนถ้าอยากเร่งเครื่องก็เร่งพร้อมกัน เบรกก็เบรกพร้อมกัน แต่ถ้าขัดกันต่างก็ไม่ฟังกัน ก็เหมือนขับรถที่คนหนึ่งเหยียบเบรก อีกคนเหยียบคันเร่ง ก็จะไปได้ไม่ค่อยดีตะกุกตะกัก เป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ผมคิดว่าต้องมีการพูดคุยกันใช้หลักวิชาการเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่แค่ภาคทฤษฎีอย่างเดียว ผมมองว่าต่างฝ่ายต่างก็ถือข้อมูลที่สำคัญทั้งคู่ ในด้านเทคนิคแบงก์ชาติเก่ง แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลเขาก็ฟังเสียงประชาชน ภาคธุรกิจ เขารู้ข้อมูลภาคปฏิบัติมากกว่า ข้อมูลสองตัวนี้ต้องเอามาชนกันแล้วหาจุดที่ไปด้วยกันได้
.
“ฝ่ายการเมืองกับแบงก์ชาติมีมุมมองเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ในแง่รัฐบาลต้องยอมรับว่าอยู่ไม่นาน เพราะถ้าทำเศรษฐกิจดีแต่ผลเกิดในระยะยาวก็ไม่มีรัฐบาลไหนอยากทำ เพราะผลลัพธ์จะไปปรากฏในอนาคต กลายเป็นว่ารัฐบาลต่อไปมาเอาผลงาน จึงเน้นนโยบายระยะสั้นประสบความสำเร็จเร็วมากกว่า เพื่อจะได้เคลมกับคะแนนเสียงเพื่อผลการเลือกตั้ง ขณะที่แบงก์ชาติเป็นสถาบันอยู่มาอย่างยาวนาน ก็มองเรื่องเสถียรภาพระยะห้าปีสิบปีเป็นหลัก ไม่ได้ให้น้ำหนักกับการกระตุ้นระยะสั้นให้เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่อาจมีความเสี่ยงต่อระยะยาวในการคุมเงินเฟ้อ จึงเป็นการกำหนดนโยบายต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมองสั้นอีกฝ่ายหนึ่งมองยาวมากกว่าสั้นต้องหาจุดสมดุลให้ไปได้ด้วยกันทั้งคู่”
.
ทั้งนี้ ดร.นณริฏ ยังเชื่อว่า แบงก์ชาติจะไม่ทำงานลำบากมากขึ้น เพราะอีกไม่นานผู้ว่าแบงก์าติคนปัจจุบันก็จะเกษียณอายุ จะมีการแต่งตั้งผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ ซึ่งอาจจะมีคนจากฝ่ายการเมืองเสนอเข้ามาด้วย แต่ต้องเข้าใจด้วยว่ากลไกของคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นอิสระ หมายความว่าฝ่ายการเมืองจะไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงให้พลิกโผอะไร จึงทำงานอย่างสบายใจได้ แต่ถ้าจะมีการแทรกแซงก็จะเป็นเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือการแต่งตั้งผู้ว่าแบงก์ชาติคนต่อไป ซึ่งใกล้เข้ามาแล้ว
.
ThePublisherTH #สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม #ดิจิทัลวอลเล็ต #รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ #เพื่อไทย #แพทองธาร
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
https://thepublisherth.com/