เป็นประเด็นร้อนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ในชื่อ “โครงการประชุมชี้แจงสถานการณ์ และการแก้ไขปัญหาช้างป่า และรับฟังความคิดเห็นการควบคุม กำเนิดช้างป่า” เพื่อแก้ไขปัญหาช้างป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบกับประชาชน โดยมีตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ จากช้างป่า ตัวแทนกลุ่มคนรักษ์ช้าง นักวิชาการ และคณะกรรมาธิการฯ และสื่อมวลชนร่วมงานอย่างคับคั่ง
เริ่มจากนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้แจงสถานการณ์ช้างป่าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาช้างป่าที่ออกนอกพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก จึง กำหนด 6 มาตรการแก้ไขปัญหา คือ
- จัดพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของช้างป่า
- จัดทำแนวป้องกัน
- จัดชุดเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่า
- ช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
- จัดพื้นที่รองรับช้างป่า อย่างยั่งยืน
- ควบคุมประชากรช้างป่าด้วยวัคซีนคุมกำเนิด
โดยเฉพาะเรื่องฉีดวัคซีนคุมกำหนดช้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน ของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น เป็นประเด็นหลักที่ต้องเปิดเวทีรับฟังความเห็น
ด้าน รศ.นสพ.ดร.ฉัตรโชติ หัวหน้าศูนย์สุขภาพช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งรับหน้าที่พัฒนาโครงการศึกษาวิจัยการใช้วีคซีนคุมกำเนิด Spayvac ให้ข้อมูลว่ามีการใช้จริงมาแล้วในช้างแอฟริกา ปรากฎ วัคซีนมีความปลอดภัย ไม่ส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อช้าง ไม่กระทบต่อช้างที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ ไม่เกิดปัญหาเป็นหนองในมดลูกของช้าง เช่นเดียวกับหมาแมว เพราะเป็นคนละชนิด และมีการวิจัยกันมา 20-30 ปีแล้ว ซึ่งหากใช้วัคซีนนี้จริงจะเป็นประเทศแรกนำร่องของเอเชีย
พร้อมระบุวัคซีนนี้ เป็นการชะลอการเกิด หรือลดจำนวนช้างป่าให้เท่ากับเขตป่าอื่นๆ หลังจากช้างป่าส่วนหนึ่งในเขตรอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก ออกมานอกพื้นที่ป่า หากินพืชผลทางการเกษตรหมุนวนทั้งข้าว มันสำปะหลัง สัปปะรด มีความสมบูรณ์ตลอดเวลา ทำให้สืบพันธุ์มากขึ้น ประชากรช้างจึงเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ต่างจากช้างในป่า ที่มีวิธีคุมกำเนิดตามธรรมชาติด้วยอาหารในป่า ที่เป็นฤดูกาลของป่า
สอดคล้องกับความเห็นของทางอุทยานฯ ที่ระบุ เป้าหมายช้างที่ต้องควบคุม คือนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นประชากรช้างที่ไม่กลับเข้าสู่ป่า ไม่ใช่ลดประชากรช้างในป่า
ในเวทีดังกล่าวปรากฏมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย หนึ่งคือที่เห็นด้วย เพราะได้รับผลกระทบจากช้างป่าในพื้นที่ เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย เห็นว่า การฉีดวัคซีนคุมกำเนิดช้าง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ได้ เป็นห่วงถึงสวัสดิภาพของช้างว่าจะมีการติดตามอาการ และประเมินผลอย่างไร และยังไม่มีข้อสรุปว่าจะมีวิธีการใดในการฉีด