หลังจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) เสนอแนวทางปรับลดค่าไฟฟ้า 6 ข้อ รวมถึงการยกเลิกนโยบายมาตรการสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมเสนอ นายกรัฐมนตรี ให้ทบทวนนโยบายดังกล่าวโดย กกพ. ระบุว่า การให้เงินส่วนเพิ่มไฟฟ้าพลังงานทดแทน หรือ แอดเดอร์ (Adder) ทำให้ราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการต่อสัญญาแบบอัตโนมัติ ส่งผลให้ค่าไฟฟ้ามีราคาสูงกว่าความเป็นจริง หากมีการทบทวนราคารับซื้อตามต้นทุนที่แท้จริง จะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 3.98 บาท และคาดว่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปีนั้น
น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า แม้ กกพ. จะนำข้อเสนอของสภาผู้บริโภคไปพิจารณาช้า แต่ก็ถือว่า “มาช้าดีกว่าไม่มา” พร้อมทั้งชื่นชม กกพ. ที่ตัดสินใจเสนอเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี โดยมองว่า ปัจจุบันราคาพลังงานหมุนเวียนลดลงมาก บริษัทต่าง ๆ ได้ทุนคืนและมีกำไรมานานแล้ว ควรยกเลิกการต่อสัญญาอัตโนมัติ และเสนอให้ กกพ. ชงนายกรัฐมนตรี พิจารณา “ลดค่าความพร้อมจ่าย” สำหรับโรงไฟฟ้าที่คืนทุนและมีกำไรแล้ว ซึ่งจากเอกสารของ กกพ. งวด มกราคม-เมษายน 2568 ค่าความพร้อมจ่ายสูงถึง 19,875 ล้านบาท หากคำนวณทั้งปี จะเป็นเงิน 59,625 ล้านบาท ซึ่งหากนำมาเฉลี่ยกับหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศ จะสามารถลดค่าไฟฟ้าได้อีก 29-30 สตางค์ต่อหน่วย
น.ส.รสนา มองว่า รัฐบาลสามารถใช้ประเด็น “เหตุสุดวิสัย” ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อลดค่าไฟฟ้า โดยเปิดให้มีการเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายในโรงไฟฟ้าที่คืนทุนแล้ว หรือไม่มีการผลิตไฟฟ้า แต่ยังได้รับค่าความพร้อมจ่าย โดยอาจแลกกับการขยายสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่ออีก 1-2 ปี และโรงไฟฟ้าใหม่ไม่ควรมีค่าความพร้อมจ่ายอีกต่อไป และอยากให้ กกพ. พิจารณารายการอื่น ๆ ที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อลดภาระของประชาชน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย พร้อมทั้งกระตุ้นให้รัฐบาล คิดนโยบายประชานิยมเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างยั่งยืน