เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ความเห็นเกี่ยวกับการออก “G-Token” ของรัฐบาลผ่านช่องทางเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยตั้งคำถามถึงความจำเป็น เหตุผล และความเสี่ยงของการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อระดมทุนจากประชาชนแทนการออกพันธบัตรตามรูปแบบเดิม
นายกรณ์ระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลสามารถกู้จากประชาชนได้อยู่แล้วผ่านการขายพันธบัตรในแอป “เป๋าตัง” ซึ่งประชาชนกว่า 40 ล้านคนมีอยู่ในโทรศัพท์มือถือ โดยเริ่มต้นลงทุนเพียง 100 บาท สามารถขายต่อได้ ต้นทุนของรัฐบาลต่ำ และเป็นช่องทางที่สะดวกอย่างมาก
“ไม่น่าจะมีช่องทางไหนที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่านี้อีกแล้ว” เขากล่าว
ดังนั้นการออก G-Token ซึ่งเป็นการ “tokenise พันธบัตร” หรือการแปลงพันธบัตรเป็นเหรียญดิจิทัลบนระบบบล็อกเชน จึงไม่ใช่สิ่งใหม่มากนัก แต่สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ ทำไมรัฐบาลเลือกจะทำในเวลานี้ และมีมาตรการควบคุมเพียงพอหรือไม่
แม้จะมีข้อถกเถียงเรื่องกฎหมาย นายกรณ์ให้ความเห็นว่า “กฎหมายไม่ได้เขียนรองรับโดยตรง เพราะตอนร่างกฎหมายยังไม่มีคริปโต” แต่ในมุมของเขา “ไม่เห็นว่าทำไมจะทำไม่ได้” ตราบใดที่ G-Token ยังมีสถานะเหมือนพันธบัตร ซื้อขายได้ แต่ใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือการที่ G-Token มีลักษณะเป็นเหรียญคริปโต อาจนำไปสู่การนำไปใช้จ่ายแทนเงินได้ง่ายขึ้น ซึ่งต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้ “กลายเป็นเงินบาททางอ้อม” หรือ “เงินประเภทใหม่ที่รัฐบาลออกเองโดยมีการค้ำประกัน”
“ต้องฟังความเห็นของแบงก์ชาติในประเด็นนี้” เขาเน้นย้ำ
นายกรณ์ยังตั้งข้อสังเกตว่า การเข้าถึง G-Token โดยประชาชนไม่ได้สะดวกกว่าการซื้อพันธบัตรผ่านแอปเป๋าตัง เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มี digital wallet มากเท่ากับเป๋าตัง
เมื่อถามว่ารัฐบาลทำไปเพื่ออะไร เขาเชื่อว่าเหตุผลหลักคือ การเพิ่มความนิยมใน digital asset ในประเทศไทย ซึ่งกลุ่ม exchange เช่น Bitkub หรือ Binance จะได้ประโยชน์ เพราะมี “สินค้าใหม่ในตลาด” มากขึ้น
“รัฐบาลก่อนหน้านี้อยากให้ประชาชนมีแอปเป๋าตัง รัฐบาลนี้อยากให้มี digital wallet” เขากล่าว
“มีแล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร อันนี้ผมไม่แน่ใจ” นายกรณ์กล่าวปิดท้าย โดยระบุว่าทั้งหมดเป็นสิ่งที่เขาคิดได้จากข้อมูลที่ปรากฏ