.
ศึกระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร น่าจะเรียกได้ว่าเริ่มนับหนึ่ง หลังจากที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ออกมาพูดในทำนองด้อยค่า ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติ ตั้งคำถามว่าจบอะไรมา ดูไม่ค่อยรู้เรื่องที่แสดงความเห็นว่าไม่ควรทุ่มไปกับเรื่องตัวเลข GDP พร้อมกับส่งสัญญาณกดปุ่มให้แบงก์ชาติต้องทำตามทั้งเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป และการเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี ขณะที่ผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบันกำลังจะครบวาระในเดือนกันยายนปีหน้า ก็เป็นที่จับตาว่าจะมีการแทรกแซงในการตั้งผู้ว่าแบงก์ชาติในอนาคตหรือไม่
.
แต่นั่นก็ยังเป็นเรื่องอีกราว 1 ปี สิ่งที่ต้องโฟกัสก่อนคือการเลือกบอร์ดแบงก์ชาติ และประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมนี้ ข่าวมาแรงว่ารัฐบาลจะดันนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไปเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ เพราะคราวนี้ไม่มีติดขัดเรื่องข้อกฎหมายเหมือนยุครัฐบาลเศรษฐา ที่รั้งตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ อยู่ เลยขยับไปไม่ได้ ตอนนี้ทางโล่งโปร่งสะดวก รอนั่งเก้าอี้แบบสบายใจ
.
แต่ดูเหมือนสังคมจะไม่สบายใจตามไปด้วย เพราะมีข้อกังวลว่าหากรัฐบาลผลักดันได้สำเร็จ จะกลายเป็นการเปิดประตูให้การเมืองเข้าไปล้วงลูกแทรกแซงแบงก์ชาติได้หรือไม่ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นผลที่ตามมาคือ เสี่ยงที่จะทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพการเงินของประเทศ จนเงินทุนอาจไหลออกได้
.
หากเราย้อนดูพฤติกรรมการบริหารประเทศของรัฐบาลในเครือข่ายทักษิณจะเห็นว่า มีความพยายามแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากกรณีของ หมอเลี้ยบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ขณะเป็นรมว.คลัง ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ก็ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 1 ปี (รอลงอาญา) ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
.
สาเหตุที่ถูกลงโทษก็เป็นเพราะ นพ.สุรพงษ์ แต่งตั้งประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดแบงก์ชาติโดยมิชอบ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือกประธานและกรรมผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดแบงก์ชาติ 3 รายมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แก่ นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ นายวิจิตร สุพินิจ และนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ซึ่งทั้งสามรายเป็นกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย และรองประธานกรรมการและกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยในขณะนั้น ตามลำดับ และธนาคารดังกล่าวอยู่ภายใต้กำกับของแบงก์ชาติ ซึ่งบอร์ดแบงก์ชาติมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลนโยบายทางการเงินและเสถียรภาพการเงินของประเทศ
.
การที่นพ.สุรพงษ์จงใจแต่งตั้งบุคคลทั้งสาม เพื่อให้เลือกบุคคลที่ต้องการให้เข้าไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดแบงก์ชาติ จึงอามีส่วนได้ส่วนเสียในอนาคตกับธนาคารที่อยู่ภายใต้กำกับของแบงก์ชาติ แต่หลังจากที่มีคำสั่งไปเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยกเลิกคำสั้งแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประธานกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดแบงก์ชาติสมัย นพ.สุรพงษ์ จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากนัก
.
ศาลฎีกาฯ จึงพิพากษาว่า นพ.สุรพงษ์ มีความผิดตามมาตรา 157 จำคุกหนึ่งปี ปรับสองหมื่นบาท แต่โทษให้รอลงอาญา 1 ปี
.
อานิสงส์จากคดีดังกล่าวทำให้มีการแก้ไจกฎหมายแบงก์ชาติ กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการคัดเลือกไม่ให้มาจากข้าราชการประจำ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีอิสระในการคัดเลือกมากขึ้น
.
นี่เป็นบทเรียนราคาแพงที่ “นาย” คนสั่งไม่ต้องรับผิดชอบแต่คนรับ “กรรม” คือผู้รับใช้ที่ทำแทน “นาย” แม้โทษในคดีนี้จะไม่ต้องติดคุกจริง แต่ นพ.สุรพงษ์ เคยติดคุกจริงในอีกคดี คือ คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิตเอื้อชินคอร์ป ซึ่งศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 1 ปี พ้นโทษไปในปี 2560 ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้เป็นคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
.
หนึ่งในที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ มีประวัติเคยแทรกแซงแบงก์ชาติมาก่อนถึงขั้นศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 1 ปี มาแล้ว แม้โทษจำคุกจะรอลงอาญาแต่ถือว่าได้กระทำความผิด มาถึงวันนี้รัฐบาลแพทองธารถอดบทเรียนเรื่องเหล่านี้อย่างไร ไม่มีใครรู้
.
แต่ที่แน่ ๆ ความพยายามที่จะเข้าไปควบคุมการทำงานของแบงก์ชาติมีรากเหง้าอยู่ ไม่เชื่อนย้อนไปดูคำพูดของนายกฯ เคยกล่าวไว้บนเวทีงาน “สิบเดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็มสิบ” ตอนหนึ่งว่า
.
“ตอนนี้กฎหมายพยายามจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคมาก ๆ ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายด้านการคลังถูกใช้งานข้างเดียวมาตลอด และประเทศเรามีหนี้สูงมากขึ้นและมากขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย”
.
ถ้ารัฐบาลไม่ลดเพดานที่จะเข้าไปควบคุมแบงก์ชาติลงบ้าง นับจากนี้การทำงานระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลอาจจะยากยิ่งขึ้น ถ้าไม่มีความยับยั้งชั่งใจในการกำหนดนโยบายหวังผลระยะสั้นที่อาจส่งผลกระทบระยะยาว การปะทะทางความคิดระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลอาจแหลมคมขึ้น เว้นแต่ว่ารัฐบาลจะแก้กฎหมายลดความเป็นอิสระของแบงก์ชาติลง ซึ่งก็ต้องถามว่าสังคมไทยยอมรับได้มั้ย
.
- Original
- Urban Culture
- Writer
- About us
- คุยกับสส
- The Persona
- Brief
- Thai Treasure
- Urban life
- On this day
- News
- Home
- Editir pick
- Good
- Persona
- Persona
- Urban
- Business
- Politics
- Playlist
- Home
- People Voice
- Culture
- นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
- Urban Wealth
- Law
- Update
- I’m Youth Ranger
- Urban History
- Issues
- Check
Subscribe to Updates
Get the latest creative news from FooBar about art, design and business.