เป็นที่จับตาอย่างมากกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจวันพรุ่งนี้ (19 พ.ย.67)ว่าจะทำคลอดแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจส่งท้ายปีออกมาอย่างไร หนึ่งในนั้นมีเรื่องการแจกเงินหมื่นเฟส 2 ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ตามที่นายทักษิณ ชินวัตร บิดาของนายกฯ แพทองธาร ได้ปราศรัยไว้บนเวทีหาเสียงที่จังหวัดอุดรธานี
The Publisher ได้สอบถามความเห็นไปยัง ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส TDRI ให้มุมมองไว้น่าสนใจว่า ก่อนจะทำเฟสสอง ต้องทบทวนว่าจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะจากสถิติสะท้อนว่าเศรษฐกิจไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเพิ่มเติมแล้ว อีกทั้งการวางเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้สูงอายุนอกเหนือจากกลุ่มเปราะบางที่เคยได้รับไปแล้วคือกลุ่มใด จะมีความซ้ำซ้อนเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ได้รับอยู่แล้วหรือไม่ ถ้าเรามองว่าสถานการณ์การคลังมีจำกัด ก็ต้องใช้อย่างมีประสิทธิภาพ คือเน้นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางจริง ๆ เช่น ไปผนวกกับการแก้ปัญหาหนี้ให้ยั่งยืน เป็นปัจจัยที่เร่งด่วนมากกว่า เราเห็นสถานการณ์อสังหาฯ รถยนต์ หนี้ส่วนบุคคล มีปัญหา ถ้ารัฐจะจัดการ ก็ต้องใช้งบประมาณหรือเสียรายได้จากภาษีไป แทนที่จะเอามาแจก ก็พุ่งเป้าที่การแก้หนี้จะดีกว่า
ส่วนกรณีที่จะลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF ลงครึ่งหนึ่ง จาก 0.46 % เหลือ 0.23 % เพื่อนำมาช่วยแก้หนี้ให้ประชาชนนั้น ก็ต้องดูว่าการแก้ปัญหาจะเลือกกลุ่มอย่างไร โดยควรดูกลุ่มที่ไปรอด แนวคิดที่จะให้ช่วยหนี้เดิม เปิดโอกาสก่อหนี้ใหม่ ก็ยังมีความกังวลว่า จะเกิดปัญหาในระยะยาวในอนาคต เพราะถ้าแก้ด้วยรูปแบบไม่ดีก็จะไม่ยั่งยืน จากงานวิจัยของสถาบันป๋วยฯ เราเคยพยายามทำทั้งลดต้น ลดดอก ยืดระยะเวลา รีไฟแนนซ์ แต่หนี้ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรก็แก้ไม่ได้ อยากให้เอาบทเรียนไปสื่อความด้วยว่า ถ้าไปแก้แบบเดิม แบบลูบหน้าปะจมูก คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อีกทั้งการลดเงินนำส่งเข้า FIDF ยังมีผลกระทบที่ทำให้การชำระเงินช้าลงดอกเบี้ยจะสูงขึ้น ถ้านำเงินไปแล้วแก้ได้ไม่ยั่งยืนจริง ก็จะกลายเป็นปัญหาได้
ดร.นณริฏ ยังกล่าวถึงการแถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสสามของสภาพัฒน์ฯ ที่ะระบุว่าขยายตัว 3% คาดว่าปีนี้จะโต 2.6 % ว่า เป็นตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจตามศักยภาพของไทย แสดงให้เห็นว่าน้ำหนักที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจแทบจะไม่เหลือแล้ว หรือถ้ามีควรทำเป็นโครงการเล็ก ๆ ระดับแค่หมื่นล้านบาทเท่านั้น จึงอยากให้รัฐบาลวางเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจตามศักยภาพเฉลี่ยที่ 3% แต่ถ้าไปไกลเกินกว่านั้น เศรษฐกิจจะวิ่งเร็วเกินไป เสี่ยงที่จะไม่เกิดมรรคผลอะไร แต่จะเกิดเป็นเงินเฟ้อแทน การประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ควรออกมาตรการแจกเงินแล้ว หันมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะเรื่องหนี้เป็นหลักจะดีกว่า