ปาย-ความมั่นคงไทย แรงกดดันใหม่ ที่ต้องเร่งรับมือก่อนเสียสมดุล
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ The Publisher ผ่านรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” วิเคราะห์ถึงปัญหาชาวอิสราเอลหลั่งไหลไป อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีแนวโน้มกลายเป็นชุมชนขยายที่ภาครัฐยังไร้มาตรการรับมือ ส่งผลให้เกิดความกังวลในมิติด้านความมั่นคงและการบริหารจัดการประชากรข้ามชาติ
ปัจจุบันมีชาวอิสราเอลเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเฉลี่ยปีละกว่า 200,000 คน ส่วนใหญ่เป็นทหารที่เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจรับใช้ชาติ และต้องการพักผ่อนจากความเครียดของภารกิจรบ โดยเฉพาะในช่วงที่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอยู่ในช่วงสงบ ทำให้มีการเดินทางมาพักผ่อนจำนวนมาก หลายคนเลือกแต่งงานกับชาวไทย และบางส่วนเริ่มตั้งรกรากถาวร
“ขณะนี้มีชาวอิสราเอลแต่งงานกับคนไทยหลายสิบครอบครัว และมีการจัดตั้งสถานประกอบศาสนกิจ ส่งผลให้เกิดชุมชนที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้น หากไม่มีมาตรการควบคุมอาจเกิดปัญหาทางสังคมและความมั่นคงในอนาคต” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าว
มาตรการต้องมาทันก่อนวิกฤติ
รศ.ดร.ปณิธาน แนะนำว่ารัฐต้องเร่งกำหนดแนวทางควบคุมอัตราการขยายตัวของชุมชนชาวอิสราเอล และให้ประชาชนใน อ.ปาย มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีประชากรเพียงสองหมื่นกว่าคน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานอาจไม่สามารถรองรับได้ แม้ว่าการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ต้องมีแผนบริหารจัดการด้านความมั่นคงควบคู่ไปด้วย
“ภาครัฐต้องทำงานร่วมกันระหว่างการเมืองท้องถิ่น ระดับชาติ สมช. และ กอ.รมน. เพื่อวางแนวทางรักษาความปลอดภัยและกำหนดแนวทางที่ชัดเจน หากมีชุมชนขนาดใหญ่ ควรพิจารณาตั้งสถานกงสุล หรือกำหนดมาตรการเข้ามาควบคุมให้เป็นระบบ”
ความล้มเหลวของการบริหารความมั่นคง – บทเรียนที่รัฐต้องตื่นตัว
“ไม่ใช่เรื่องคิดมากเกินไปหากจะมองว่าการตั้งรกรากของชาวอิสราเอลอาจนำมาซึ่งปัญหาความมั่นคง เพราะในอดีตมีหลายเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยง เช่น การเคลื่อนไหวของชาวอิสราเอลบนถนนสุขุมวิท หรือเหตุการณ์ที่สถานทูตอิสราเอลเคยเป็นเป้าหมายของการก่อการร้าย” รศ.ดร.ปณิธาน เตือน พร้อมระบุว่า ชุมชนมุสลิมสายจีนฮ่อที่มีอยู่เดิมในปาย ต้องได้รับการดูแลเพื่อให้เกิดความสมดุลและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางศาสนาและวัฒนธรรม การขยายตัวของกลุ่มอิสราเอลอาจทำให้เกิดปัญหาการอยู่ร่วมกัน หากไม่มีแนวทางการจัดการที่เหมาะสม
ภูมิธรรมถูกวิจารณ์หนัก – ขาดวิสัยทัศน์ด้านความมั่นคง
รศ.ดร.ปณิธาน ยังตอบคำถามเกี่ยวกับเสียงวิจารณ์บทบาทของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่ายังไม่สามารถดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำหน้าที่พี่เลี้ยงนายกฯ มากกว่าดูแลงานด้านความมั่นคงว่า “นายภูมิธรรมอาจมีภารกิจมากในฐานะรองนายกฯ แต่ต้องไม่ลืมว่าความมั่นคงเป็นเรื่องที่ต้องมีการกำกับดูแล 24 ชั่วโมง การลงพื้นที่และเฝ้าระวังต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากฝ่ายบริหาร บทบาทของนายภูมิธรรมควรปรับให้ชัดเจนขึ้น เพราะนายกฯ ก็มีทีมงานจำนวนมากช่วยอยู่แล้ว จึงควรหันมาดูแลเรื่องความมั่นคงอย่างจริงจัง เพราะภัยคุกคามข้ามชาติ รวมถึงสถานการณ์ในปาย และบริเวณชายแดน ที่กำลังทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ”
TBC กับบทเรียนปราสาทตาเมือนธม – จุดอ่อนที่ต้องแก้
รศ.ดร.ปณิธาน ยังยกกรณีทหารกัมพูชามาร้องเพลงชาติที่ปราสาทตาเมือนธม ชี้ให้เห็นถึงช่องโหว่ของคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (TBC) ที่ยังไม่มีมาตรการเชิงรุกเพียงพอ การมองข้ามปัญหาอาจทำให้สถานการณ์ลุกลามผ่านกระแสสื่อออนไลน์ และสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง
“หากไม่มีแนวทางการบริหารจัดการที่จริงจัง อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนและความหวาดระแวงเพิ่มขึ้น การประชุมระดับพื้นที่เพียงอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องขยายไปสู่ระดับชาติให้เร็วที่สุด” รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวสรุป