มหากาพย์ที่ดินอัลไพน์ พัวพัน “ทักษิณ-ชินวัตร” สะท้อนปัญหาความไม่เด็ดขาดของภาครัฐ เอื้อประโยชน์คนมีอำนาจ จน “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” ขณะดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีคำสั่ง “ยกอุทธรณ์” ให้ที่ดินอัลไพน์ กลับไปเป็นของเอกชน ซึ่งขัดต่อกฎหมาย และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับ “ทักษิณ” เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2545 ยุคที่ทักษิณ เจ้าของสนามกอล์ฟอัลไพน์ เป็นนายกรัฐมนตรี สุดท้าย “ยงยุทธ” ต้องโทษจำคุกสองปี ขณะที่เรื่องราวยืดเยื้อยาวนานถึง 23 ปี ปลัดกระทรวงมหาดไทยเพิ่งมีคำสั่งเพิ่งมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมของ “ยงยุทธ” คืนกลับไปเป็นที่ธรณีสงฆ์
การสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ แม้จะเป็นการคืนความเป็นธรรมให้กับนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา เจ้าของที่ดินที่ทำพินัยกรรมให้วัดธรรมิการามวรวิหาร และทำให้การบังคับใช้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ไม่ถูกบิดเบือนจากอำนาจทางการเมืองแล้วก็จริง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหายืดเยื้อนี้ ได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้กับระบบการจัดการที่ดินของประเทศ และพัวพันกับ “ตระกูลชินวัตร” มาอย่างยาวนาน
ที่ดินผืนนี้ เดิมเป็นของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ซึ่งได้ทำพินัยกรรมยกให้วัดธรรมิการามวรวิหาร แต่กลับมีการออกโฉนดโดยมิชอบ ที่มีการกล่าวหาว่าพัวพันไปถึงนายเสนาะ เทียนทอง ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ รมว.มหาดไทย ใช้อำนาจข่มขืนใจให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี จดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้กับบริษัทอัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคับ จำกัด ที่ภรรยาและน้องชายเป็นผู้ถือหุ้น แต่ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง เนื่องจากป.ป.ช.นำตัวนายเสนาะไปส่งศาลไม่ทันทำให้คดีขาดอายุความ
ความเป็นมาของที่ดินดังกล่าวมีการขายในราคา 130 ล้านบาทและโอนให้บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด และบริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ ในปี 2533 จากนั้นในปี 2540 ขายต่อให้คุณหญิงพจมาน ภรรยา พ.ต.ท. ทักษิณ (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ก่อนที่ “ทักษิณ” เข้ากุมอำนาจทางการเมืองในช่วงปี 2544 และในปี 2545 “ยงยุทธ” ในฐานะรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และรักษาราชการแทนปลัดมหาดไทย ได้ออกคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ให้ยกเลิกโฉนดที่ดิน ก่อนที่จะได้รับการปูนบำเน็จให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตามลำดับ
“ทักษิณ” อาจอ้างได้ว่าการได้มาซึ่งที่ดินในครั้งแรกไม่รับรู้ว่ามีการฉ้อฉลใด ๆ เกิดขึ้น แต่เมื่อเป็นนายกฯ แล้ว มีการหยิบยกเรื่องนี้อภิปรายไม่ไว้วางใจ และสุดท้ายเกิดการเอื้อประโยชน์ให้กับที่ดินในครอบครองของตัวเอง จะเรียกตัวเองว่าเป็น “ผู้เสียหาย” ได้จริงหรือ เพราะข้อเท็จจจริงปรากฏชัด มีเรื่องการเอื้อประโยชน์จากข้าราชการเพื่อให้การครอบครองที่ดินเป็นไปอย่างถูกต้อง ทั้งที่ผิดกฎหมาย และบุคคลนั้นก็ได้ดิบได้ดีในเส้นทางการเมืองตามที่กล่าวในข้างต้น
เส้นทางต่อจากนี้ยังต้องจับตาการจ่ายเงินชดเชยที่นายพรเพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน เตรียมของบประมาณรองรับกับการประเมินราคาสูงลิ่วที่ 7.7 พันล้านบาท จะทำแบบนั้นกันจริงหรือไม่ การดำเนินการตามกฎหมายต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร จะมีใคร “แกล้งโง่” เอื้อประโยชน์ให้ใครบางคน ทำรัฐต้องจ่ายในราคาแพงหรือเปล่า ต้องจับตา
บทความโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร