“เงินเดือนก็โดนหักทุกเดือน แต่สิทธิที่ได้กลับดูน้อยกว่าคนอื่น?” นี่คือคำถามที่อยู่ในใจของผู้ประกันตนหลายล้านคนในระบบประกันสังคม การออกมาแฉข้อมูลเชิงลึกของ รักชนก ศรีนอก ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชนอถึงการใช้เงินแบบมือเติบของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าเงินกองทุนประกันสังคมอาจหมดลงภายใน 30 ปี จึงเป็นเรื่องที่กระแทกใจผู้ประกันตนไม่น้อย
ฟาดงบดูงานต่างประเทศ – ปฏิทินแพงลิ่ว
รักชนก เปิดเผยข้อมูลที่ช็อกคนทำงานทั้งประเทศ ว่า สปส. ใช้งบประมาณไปกับทริปดูงานต่างประเทศ 6 วัน 5 คืน สำหรับผู้บริหาร 10 คน ด้วยงบมหาศาลถึง 2.2 ล้านบาท โดยมีค่าตั๋วเครื่องบินเฟิร์สคลาสราคาสูงลิ่ว 160,000 บาท/คน สำหรับ 2 คน ค่าโรงแรมคืนละ 16,000 บาท และค่ารถรับส่งอีก 35,000 บาท/คน!
นอกจากนี้ ยังมีโครงการแจกปฏิทินมูลค่าราว 50 ล้านบาทต่อปี ซึ่งทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องเอาเงินที่คนทำงานจ่ายสมทบไปใช้กับเรื่องแบบนี้ ขณะที่ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ“ รมว.แรงงาน อ้างว่าจำเป็น
งบบานปลายทุกปี แต่ขอข้อมูลกลับไม่ได้
งบประมาณของ สปส. เพิ่มขึ้นทุกปีอย่างน่าตกใจ
- ปี 2563: 4,000 ล้านบาท
- ปี 2564: 5,281 ล้านบาท
- ปี 2565: 5,332 ล้านบาท
- ปี 2566: 6,614 ล้านบาท
- ปี 2567: 5,303 ล้านบาท (ลดลงปีแรก)
ที่หนักกว่านั้น คณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณขอข้อมูลรายละเอียดการใช้งบย้อนหลัง 5 ปี แต่ สปส. ปฏิเสธให้ข้อมูล โดยอ้างว่า “เปิดเผยไม่ได้” ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีอะไรที่ไม่อยากให้ประชาชนรู้?
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ชี้แจง แต่ดูไม่ค่อยสมเหตุสมผล
เมื่อเรื่องแดงขึ้นมา พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ แทนที่จะตอบตรง ๆ ว่าเงินถูกใช้ไปกับอะไร กลับบอกว่า “งบประมาณทุกอย่างมีการตรวจสอบแล้ว และเป็นไปตามความเหมาะสม”
นอกจากนี้ ยังบอกอีกว่า “การเดินทางไปต่างประเทศเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้บริหาร” ทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า ทำไมต้องไปพัฒนาศักยภาพถึงต่างประเทศ? เงินสมทบที่ประชาชนจ่ายไป ควรใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน ไม่ใช่เพื่อความสะดวกสบายของผู้บริหาร!
สิทธิประกันสังคม = พลเมืองชั้นสาม?
ปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพของไทย แบ่งเป็น 3 ระดับ ชั้น 1 สวัสดิการข้าราชการ ใช้จ่ายจากภาษี แต่สิทธิครอบคลุมแทบทุกอย่าง ชั้น 2 บัตรทอง ประชาชนทั่วไป ไม่ต้องจ่ายเอง แต่ยังได้รับการรักษาขั้นพื้นฐาน และ ชั้น 3 ประกันสังคม คนทำงานต้องจ่ายเงินเองทุกเดือน แต่กลับได้รับสิทธิที่ด้อยกว่าสองระบบแรก
ตัวอย่างชัด ๆ เช่น ค่าทำฟัน ข้าราชการ เบิกได้เต็ม บัตรทอง เบิกได้ไม่จำกัดในบางกรณี แต่ประกันสังคม ได้แค่ 900 บาท/ปี
นั่นหมายความว่า คนที่ทำงานหนักที่สุด จ่ายเงินสมทบทุกเดือน กลับได้รับสิทธิประโยชน์ที่ “น้อยกว่าคนที่ไม่ต้องจ่าย” ทำให้เกิดคำถามว่า เป็นธรรมกับผู้ประกันตนแล้วหรือ?
กองทุนอาจหมดใน 30 ปี ถ้ายังใช้เงินแบบนี้
รักชนก เตือนว่า หาก สปส. ยังใช้เงินแบบไม่มีประสิทธิภาพ เช่นนี้ เงินในกองทุนประกันสังคมอาจหมดลงภายใน 30 ปี ซึ่งจะส่งผลร้ายต่ออนาคตของคนทำงานทุกคน “หากประหยัดงบประมาณได้ 1 ล้านบาท และนำไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 5% ต่อปี ภายใน 30 ปี เงินจะเพิ่มเป็น 4.32 ล้านบาท”
การชี้ประเด็นนี้ของ “รักชนก” แสดงให้เห็นว่า การใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถ ประหยัดงบประมาณในโครงการที่ไม่จำเป็น นำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว จะช่วยยืดอายุเสริมความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคมได้
ถึงเวลาที่ผู้ประกันตนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม
“เราจ่าย ไม่ได้ขอ!” ผู้ประกันตนไม่ใช่ผู้รับบริจาค แต่คือเจ้าของเงินตัวจริง ถึงเวลาที่เราต้องทวงถามว่า เงินของเราอยู่ที่ไหน? ถูกใช้ไปเพื่อใคร? มีประสิทธิภาพหรือไม่? และเราได้อะไรกลับคืนมา? คุ้มค่าหรือเปล่า?
ถึงเวลาที่เราต้องเรียกร้องให้มีความโปร่งใส และขอให้รัฐปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นธรรมกับผู้จ่ายเงินสมทบ เงินประกันสังคม ไม่ใช่สมบัติของผู้บริหาร แต่มันคือหยาดเหงื่อและแรงงานของประชาชน
หยุดเลี้ยงผู้บริหารให้สุขสบาย แล้วคืนสิทธิที่เป็นธรรมให้ “ผู้ประกันตน” ที่เป็นเจ้าของเงินตัวจริง!