คือส่วนหนึ่งในบทสัมภาษณ์เปิดใจของคุณธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ที่พูดคุยกับ The Publisher ถึงสิ่งที่สังคมควรจะได้เรียนรู้จากดรามาปางช้างจนถึงการเคลื่อนย้าย “พลายดอกแก้ว” โดยหลังเกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงที่จังหวัดเชียงใหม่ จนทำให้ช้างล้มไปสองเชือก ทำให้คนจำนวนหนึ่งเริ่มเปิดใจกับอุปกรณ์การเลี้ยงช้าง คือ โซ่และตะขอ ที่ถูกสร้างให้เป็นผู้ร้าย โดยเฉพาะในมุมมองของต่างชาติ
“ในจังหวัดท่องเที่ยวจะเห็นได้ว่ามีคนต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของกิจการจำนวนมาก อ้างอนุรักษ์ ต้องยอมรับความจริงว่าธุรกิจรับบริจาคทำเงินมหาศาล เติบโตได้ดีมาก โดยใช้ความรักของคนที่มีต่อสัตว์ เวลาตั้งชื่อสวยหรูเป็นองค์กรนั้น องค์กรนี้ให้เข้าใจว่าเป็นบริษัททั้งหมด กระทำการเพื่อผลประโยชน์ ทำกำไรทั้งสิ้น โดยใช้ความน่าสงสารของสัตว์ จึงอยากให้สังคมไทยตระหนักและเท่าทันธุรกิจนี้ อย่าไปเชื่อว่าเขาทำกิจการเพื่ออนุรักษ์ช้าง เขาทำกิจการเพื่อทำเงิน การอนุรักษ์หรือรันแคมเปญเป็นแค่โพรดัก”

คุณธีรภัทร ยกตัวอย่างกรณีหมูเด้งที่มีองค์กรหนึ่งไปรณรงค์ว่าน้องเป็นสัตว์ป่าต้องอยู่ในป่าว่า องค์กรนี้ไม่ได้มีเป้าหมายให้หมูเด้งไปอยู่ในป่า ต้องการเพียงแค่ทำแคมเปญเพื่อระดมทุน เช่นเดียวกับองค์กรที่บอกให้เอาช้างไทยคืนมาจากศรีลังกา องค์กรที่อยู่เบื้องหลังการเรียกร้องไม่ได้มีเป้าหมายในการเอาช้างกลับมา เป็นเพียงกระบวนการได้มาซึ่งรายได้และอ้างไปรับเงินจากที่โน่นที่นี่ เพื่อบอกว่ากำลังทำสิ่งนี้เท่านั้น ต่างชาติไม่รู้ก็คงเชื่อทุกอย่างที่เขาโพสต์ในอินเตอร์เน็ต แต่คนไทยขอให้เข้าใจกันก่อน ถ้าไม่มั่นใจในองค์กรใดก็อย่าเสียเงินเอาเงินเก็บไว้เลี้ยงดูตัวเอง พ่อแม่ญาติพี่น้องดีกว่า
“ล่าสุดมีคนติดต่อมาว่าจะให้เงินกับน้องที่ไปช่วยช้าง ผมอยากบอกว่าอย่าติดต่อมา เพราะเขาไปด้วยใจ ไปเพื่อช่วยช้างไม่มีเรื่องเงินหรือผลประโยชน์ในเป้าหมายช่วยช้าง ถ้าจะให้ดีเอาเงินไปคืนผู้บริจาค แม้กระทั่งเงินที่ดาราเอามาให้สามถึงสี่ล้าน ถ้าผมมีสิทธิในการตัดสินใจจะโอนคืนผู้บริจาคทุกคน เพราะตอนนี้แยกไม่ออกแล้วระหว่างมูลนิธิกับการทำธุรกิจ เพราะนางฟ้ากับซาตานเป็นคนเดียวกัน จนกว่าจะถูกเฉลยออกมาทีละนิด ให้ใช้สามัญสำนึกในการพิจารณาอะไรที่ผิดปกติแสดงว่าผิดปกติ”
.
ขอบคุณรูปภาพ: ร่มแดนช้าง Tusker Shelter