ศาลรธน.ไม่รับคำร้อง ทักษิณ-เพื่อไทยล้มการปกครองฯ ชี้การกระทำยังห่างไกลเกินกว่าล้มล้างฯ โดยมีมติเอกฉันท์ในส่วนประเด็นที่ 1 และ 3-6 ว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรืเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
ส่วนประเด็นที่ 2 มีมติ 7 ต่อ 2 สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตุลาการเสียงข้างมาก 7 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยสองคนคือ นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภพล เทพพิทักษ์ เห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัยได้
สำหรับประเด็นที่สองที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นต่างกันคือ มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุนเซน ซึ่งเป็นผู้นำกัมพูชา ซึ่งมีระบอบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการให้รัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับสมเด็จฮุนเซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU 2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่กัมพูชา