เป็นความกังวลของคนในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับช้าง โดยเฉพาะช้างบ้านที่มีข้อมูลสำคัญว่าอาจสูญพันธุ์ 50 ปี เรื่องนี้นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลและอนุรักษ์ช้างเปิดเผยหลังไปเยี่ยมปางช้างต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ และเยี่ยมพลายขุนเดชที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ที่จังหวัดลำปาง โดยเธอโพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่าสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของการคงอยู่ของช้างเพศผู้ในประเทศไทย….
โดยบอกเป็นที่ค่อนข้างชัดเจนว่า ปางช้างส่วนใหญ่รับแต่ช้างเพศเมียเข้าทำงาน..ด้วยความคิดว่า..ช้างเพศผู้เลี้ยงยาก และมีช่วงตกมัน ที่สำคัญ…มีบางองค์กรร่วมมือกับต่างชาติ สร้างกระแสต่อต้านไม่ให้นักท่องเที่ยวมาปางที่มีช้างเพศผู้ทำงาน ..มีความคิดต่อต้านการผสมพันธุ์ในช้าง และขังเดี่ยวช้างเพศผู้ มิหนำซ้ำยังจะทำหมันเพศผู้ด้วย..
หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้.. อนาคตช้างเพศผู้จะเป็นอย่างไร..เขาจะไปยืนอยู่ตรงจุดไหนบนโลกใบนี้…งานที่มีสำหรับช้างผู้ก็จะเป็นการลากซุง หรืองานแห่ ซึ่งงานแห่ก็มีไม่มาก …ยิ่งช้างสีดอ ยิ่งเป็นที่ต้องการน้อยมาก…
เธอบอกได้คุยกับคุณหมอคชบาล.. เป็นไปได้ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า เราอาจจะไม่เหลือช้างบ้านเลย เพราะไม่มีช้างเพศผู้ให้ผสมพันธุ์…อัตราการตายของช้างก็สูงกว่าอัตราเกิดมาก…เกิดมาแล้วจะอยู่รอดจนโตก็ไม่ง่าย…พร้อมระบุคงอยู่ไม่ถึงอีก 50 ปี…แต่ก็ไม่อยากให้ลูกหลานของเราได้เห็นช้างไทยแต่ในภาพวาด ภาพถ่าย…
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่น่าเป็นห่วง…ถ้าคนใหญ่คนโตในประเทศนี้รวมทั้งสังคมโดยรวมตระหนักถึงปัญหา ก็ต้องช่วยกันแก้ไข…เพราะไม่มีคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานเดียวทำได้…
ฟันเฟืองที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งก็คือควาญที่จะเลี้ยงช้างเพศผู้..ต้องให้ความสำคัญและสนับสนุน..อาชีพควาญช้าง เป็นอาชีพที่ต้องมีใจรัก ทุ่มเท และมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา…ทั้งภาครัฐ และเจ้าของปางต่างๆ รวมถึงเจ้าของช้าง ต้องให้ความสำคัญกับคนที่เป็นควาญ…ซึ่งต้องเป็นคนที่มีความรู้เรื่องช้างจริงๆ รักช้างจริง…ไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ให้อาหาร และพาเดินเท่านั้น..(นั่นไม่เรียกว่าเป็นควาญ)…ต้องเป็นคนที่พร้อมจะปกป้องช้างยามภัยมา เข้าใจอารมณ์ของช้างในภาวะต่างๆ….
เบื้องต้น ก็ช่วยกันรักช้างเพศผู้ให้มากๆ..เขาไม่ผิดเลยที่เกิดมาเป็นช้างผู้…ให้พวกเขาได้มีโอกาสทำงาน (ที่ไม่ใช่แค่ลากซุง…ยํ้าลากซุงได้เฉพาะอายุ 25-50 เท่านั้น)…และให้เขามีที่ยืนอยู่บนโลกใบนี้ด้วย