หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ มีมติว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ผ่านคุณสมบัติ ทำให้เกิดคำถามว่า หากนายกิตติรัตน์ ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โดยพ้นตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี แล้วเหตุใด ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ก็เคยเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ ในยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าข่ายสองมาตรฐานหรือไม่
หากพิจารณาจากเหตุผลที่กฤษฎีกา ชี้คุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ว่าไม่ผ่านเกณฑ์นั้น มีการระบุว่า พิจารณาจากภาพรวมพฤติกรรมทั้งหมดจึงเห็นว่าไม่ผ่านเกณฑ์
The Publisher ชวนทุกคนไปดูเส้นทางชีวิตบนถนนสายการเมืองของนายกิตติรัตน์ จะเห็นภาพชัดว่า ผู้ชายคนนี้ไม่เคยว่างเว้นจากความเป็นนักการเมือง ดังข้อมูลดังต่อไปนี้
รัฐบาลยิ่งลักษณ์
2554 รองนายกฯ-รมว.พาณิชย์
2555 รมว.คลัง
พรรคเพื่อไทย
2562 ลงสมัคร สส.บัญชีรายชื่อ แต่ในขณะนั้นพรรคเพื่อไทยไม่ได้สส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว ทำให้นายกิตติรัตน์ไม่ได้เข้าสภาฯ
2563 ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยเป็นรองหัวหน้าพรรค
รัฐบาลเศรษฐา
2566 ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งกรรมการชุดนี้มีทั้งข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงต่าง ๆ รวมถึงภาคเอกชน มาทำหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะแก้หนี้สินประชาชนรายย่อย ขอเอกสารข้อมูล เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมชี้แจง รวมถึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้
จะเห็นได้ว่าตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ที่นายกิตติรัตน์ได้รับมอบหมายในฐานะเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ นั้น มีอำนาจแทบจะไม่แตกต่างไปจากรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีเลย ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งนี้เดิมในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น เป็นของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็นประธาน แบบนี้จะเรียกว่าไม่ใช่ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หรือ
นี่คือเส้นทางการเมือง และการทำหน้าที่ในฐานะประธานที่ปรึกษาของนายกฯ ของนายกิตติรัตน์ ที่แตกต่างไปจาก ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ