จุดเริ่มต้นการโกงภาษีครั้งมโหฬารนี้เกิดขึ้น เมื่อนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ทำหนังสือสอบถามกรมสรรพากรเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ว่า บริษัทแอมเพิลริช จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน ซื้อหุ้นชินคอร์ป ในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2542 จำนวน 32.92 ล้านหุ้นในราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท และในระหว่างที่บริษัทแอมเพิลริชถือหุ้น บริษัทชินคอร์ปฯ ได้ทำการลดราคาพาร์เหลือ 1 บาท ทำให้จำนวนหุ้นชินคอร์ปที่บริษัทแอมเพิลริชถือครองเพิ่มเป็น 329.2 ล้านหุ้น ต่อมาบริษัทแอมเพิลริช ตกลงขายหุ้นดังกล่าวให้นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ราคาพาร์ 1 บาท โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทาจะต้องเสียภาษีหรือไม่
ต่อมาในวันที่ 21 กันยายน 2548 นางเบญจา หลุยเจริญ ขณะดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาฐานภาษี (ขรก.ซี 10)ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ได้ลงนามในหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0706/7896 ตอบข้อหารือนางสาวปรานีว่า กรณีนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา เป็นการซื้อต่ำกว่าราคาตลาด ตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน อีกทั้งการที่บริษัทแอมเเพิลริชขายหุ้นให้นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ก็ไม่เข้าข่ายพนักงาน หรือกรรมการได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เพราะหุ้นชินคอร์ปฯ ที่บริษัทแอมเพิลริชซื้อไว้ถือเป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัท ไม่ใช่หุ้นที่บริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ออกเอง ทำให้บุตรชายและบุตรสาวของนายทักษิณ ไม่ต้องเสียภาษีจากการซื้อหุ้นดังกล่าว ส่งผลให้รัฐขาดรายได้เกือบ 16,000 ล้านบาท
จากนั้นในวันที่ 20 มกราคม 2549 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ เปิดทางให้กลุ่มทุนต่างประเทศ สามารถเข้าถือหุ้นในธุรกิจโทรคมนาคมไทยได้ 49 % จากเดิมกำหนดไม่เกิน 25 %
หลังจากนั้นเพียงสามวัน ในวันที่ 23 มกราคม 2549 นายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา นำหุ้นชินคอร์ปฯ ไปขายให้กับกองทุนเทมาเส็กผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่า 7.3 หมื่นล้านบาท โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้นายทักษิณ ถูกพิพากษายึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท จากการทุจริตเชิงนโยบาย เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจตัวเอง
นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่าง “โกงถูกยึดทรัพย์”