ย้อนดูการจัดงบประมาณของรัฐบาลเศรษฐา มาจนถึงรัฐบาลแพทองโพย พบว่า มีการจัดงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องอย่างมีนัยยะสำคัญ เริ่มจากปีงบประมาณ 2567 ขาดดุล 6.93 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2568 ขาดดุล 8.7 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2569 วางแผนขาดดุลอีก 8.6 แสนล้านบาท บวกดูแล้วพบว่าการจัดงบประมาณ 3 ปีของรัฐบาลเพื่อไทยรวมขาดดุลแล้วกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ทั้ง ๆ ที่มีเสียงเตือนจากหลายหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ อาทิ สภาพัฒน์ฯ เตือนมาตั้งแต่การทำงบประมาณปี 2567 ว่า ต้องลดการขาดดุลลงให้ต่ำกว่า 3 % ของจีดีพี แต่การจัดงบประมาณของรัฐบาลเพื่อไทย สวนทางมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ขาดดุลเกิน 4 % ของจีดีพีไปแล้ว
แน่นอนว่าหนี้สาธารณะจะพุ่งเป็นเงาตามตัว หากภาวะขาดดุลยังดำรงอยู่เช่นนี้ ไม่มีการแก้ไข คาดการณ์ว่าภายในปี 2572 ยอดหนี้สาธารณะจะแตะที่เพดาน 70 %
ขณะที่การหารายได้เพิ่มยังไม่มีหนทางที่ชัดเจน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นความพยายามสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ทั้งพันธบัตรดิจิทัล ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างเงินสกุลใหม่มาแข่งกับสกุลเงินบาท ไปจนถึงการล็อกเป้าเล็งล้วงทุนสำรองระหว่างประเทศมากระตุ้นเศรษฐกิจ
นี่คือทัศนคติที่น่าห่วง เป็นกับดักและความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ถ้ายังเดินตามรอยนี้ ไม่เพียงไม่ได้ตามเป้า เศรษฐกิจโต 4-5 % อาจตามมาด้วยการถูกลดเครดิตจากภาระหนี้ที่เกิดขึ้นด้วย