ในช่วงนี้เราจะเห็นคนดังเดินพาเหรดเข้าคุกกันเป็นแถวจากกรณี “ฉ้อโกง” รวมถึงคนที่มีบทบาทในทางการเมืองแม้ไม่มีตำแหน่งใหญ่โต แต่กลับปรากฏข้อมูลว่า อาจมีการอ้างอำนาจการเมืองไปแสวงหาประโยชน์ ก็เกิดคดีความไม่ต่างกัน เช่นกรณีล่าสุด นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกดีเอสไอแจ้งข้อกล่าวหาฟอกเงิน หลังพบเส้นเงินพันไปถึงบอสพอล และบอสปีเตอร์ ที่น่าสนใจคือการพบเงินในบัญชีมารดาของนายสามารถ มากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งมีที่มาหลากหลายด้วย
ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มองว่า การที่คนที่อาจไม่มีตำแหน่งใหญ่โตทางการเมือง แต่กลับมีการแสวงหาประโยชน์ได้จำนวนมากนั้น สาเหตุหลักเลยเป็นเพราะว่า กระบวนการใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นในรัฐบาลหรือในกระบวนการนิติบัญญัติคนที่เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบไม่โปร่งใส และที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐแทบจะทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตั้งต้น ก็ใช้อำนาจ อย่างไม่โปร่งใส เป็นเรื่องที่พูดกัน และรับรู้โดยทั่วไปว่ามันมีการวิ่งเต้นเส้นสาย
“คอร์รัปชั่นสามารถซื้อความยุติธรรมได้ เพราะฉะนั้น ความเคยชินเหล่านี้ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่า เงินสามารถ แก้ไขปัญหาของเขาได้ ถึงแม้ว่าจะทำผิดอะไรมาก็ตาม ส่วยและสินบนจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในสังคมไทย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ ยิ่งถ้าเป็นคนทำธุรกิจสีเทา กรณีคุณสามารถ มันไม่ใช่แค่ตัวคุณสามารถอย่างเดียว แต่มันยังเชื่อมโยงไปถึงคนที่สังคมเข้าใจว่าอยู่เบื้องหลังของเขา หรือเขาทำงานให้ คือบรรดาบิ๊กทั้งหลายแหล่ เพราะฉะนั้นด้วยเงาของปีศาจที่ทาบทับอย่างนี้ มันเลยทำให้เขาสามารถไปตบทรัพย์ใครก็ได้และได้เป็นจำนวนมาก เพราะคนยังคิดว่า เงินมันซื้อได้ และซื้อไปถึงคนตัวใหญ่ที่บงการอยู่ข้างหลังครับ”
สำหรับกรณีดิไอคอน กระทบประชาชนทั่วไปจำนวนมาก มันสะท้อนว่า หน่วยงานรัฐ ไม่สามารถปกป้องให้สังคมสงบสุขได้ ไม่สามารถ ช่วยดูแล ความเป็นธรรมในสังคมได้ สาเหตุหลัก ๆ เป็นเพราะว่าหน่วยงานของรัฐที่มี หน้าที่มีอำนาจเกี่ยวข้องไม่ทำหน้าที่ ทำอย่างจำกัด หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการคอร์รัปชั่นเอง เราจะเห็นตั้งแต่แรกว่ามีการระบุว่า มีหน่วยงานไหนบ้างในหน่วยงานของรัฐที่มีการวิ่งเต้นเส้นสายกันได้ มีการเชื่อมโยงได้ จนมีคำว่าเทวดา ในหน่วยงานเหล่านั้น ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ในการปกป้อง เป็นการปกป้องสังคมในการปกป้องประชาชน ซึ่งกลายเป็นเรื่องชินชาของสังคมไทยว่า พอถึงเวลาแล้วคนผิดจะลอยนวล หน่วยงานของรัฐไม่เคยแสดงความรับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ผู้บริหารในหน่วยงานต่าง ๆ ที่ถูกกล่าวถึงในช่วงแรก ๆ ไม่มีใครต้องรับผิดชอบเลย ทุกคนลอยตัวได้หมด แม้กระทั่ง ผู้บริหารระดับสูงระดับปลัดกระทรวงหรือรัฐมนตรีจะออกมาขอโทษประชาชนว่าพวกเขาไม่สามารถ ดูแล ผลประโยชน์หรือดูแลทุกข์สุขของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถใช้อำนาจรัฐใช้กลไกของรัฐให้ปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพได้
”ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สังคมไทย ระบบราชการไทยไม่มีการปฏิรูปตัวเองอย่างเข้มข้น เราก็จะเจอปัญหาอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ครับ เราจะปล่อยให้บ้านเมืองเสียหายอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ ยิ่งช่วงนี้มีคำถามกันมากเลย คนไทยถามกันมากว่าทำไมคอร์รัปชันมันเยอะจัง ทำไมช่วงนี้คนดังคนที่เคย มีภาพพจน์ในสังคมที่ดี ประชาชนคิดว่าเชื่อถือได้ พึ่งพาได้ หรือคนที่เป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยเนี่ย กลับตกเป็นจำเลย ในคดีคอร์รัปชันเสียเอง และถ้ามันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ประเทศไทยของเรา จะไม่มีทางพัฒนา ไม่มีทางก้าวทันโลกได้เลยครับ“
ดร.มานะ มองว่าการสกัดคอร์รัปชันที่ดีที่สุดคือ ประชาชน ต้องปกป้องตัวเองครับ ต้องตื่นรู้ว่า ว่าหน่วยงานของรัฐบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ เราจะต้องกระตุ้นเตือนเรียกร้องให้พวกเขารับผิดชอบต่อบ้านเมือง รับผิดชอบต่อประชาชนมากกว่านี้ นิ่งเฉยไม่ได้แต่สำหรับรัฐบาล ถึงเวลาที่รัฐบาลจะต้องพูด และวางแผน ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ให้ถึงรากถึงแก่งจริง ๆ ไม่ใช่มองแต่ปัญหาเฉพาะหน้า เวลาเกิดคดีอะไรขึ้นก็บอกว่าไปกลับไปสอบสวนไปเยียวยาคนที่เดือดร้อน แค่นั้นไม่ได้ คนโกงถูกจับไป เดี๋ยวเครือข่ายใหม่ ผู้แสดงใหม่ ๆ ผู้ร้ายตัวใหม่ก็จะกลับเข้ามา ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แก้ไขให้ถึงรากฐานของมัน