“รัฐบาลไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันระหว่างสองขั้วอำนาจ—จีนและสหรัฐฯ” นี่คือมุมมองของ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เที่ยงเปรี้ยงปร้าง ดำเนินรายการโดย “สมจิตต์ นวเครือสุนทร” กรณีไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ 48 คนกลับจีน ซึ่งเป็นจุดที่ต้องจับตามองว่าไทยได้อะไรจากดีลนี้ และจะต้องจ่ายอะไรในภายหลัง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2557 ชาวอุยกูร์กว่า 300 คนเดินทางเข้าสู่ไทยโดยหวังลี้ภัยไปประเทศที่สาม แต่ไทยกลับดำเนินการส่งตัวเป็นกลุ่มๆ โดยมีทั้งการส่งไปตุรกี (173 คน) และจีน (109 คน) ซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมระดับนานาชาติ ทั้งความตึงเครียดกับตุรกี และการโจมตีไทยที่สถานทูตในตุรกี ก่อนจะเกิดเหตุระเบิดรุนแรงที่ราชประสงค์ในปี 2558 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกี่ยวโยงกับปมอุยกูร์
รัฐบาลไทยเสี่ยงอะไรกับการตัดสินใจครั้งนี้?
ครั้งนี้แตกต่างจากอดีต เพราะมีการยืนยันจาก นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ว่ารัฐบาลจีนได้ร้องขออย่างเป็นทางการ ซึ่งเกิดขึ้นหลังการเยือนจีนของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คำถามคือ เมื่อมีการร้องขอ—ไทยได้อะไรตอบแทน?
รศ.ดร.ปณิธาน ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอาจต้องเตรียมรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่อาจนำไปสู่ การกีดกันทางการค้า ลดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) หรือแม้แต่การลดระดับไทยในบัญชีค้ามนุษย์จาก Tier 2 ไปสู่ Tier 3 ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไทยโดยตรง
“เรากำลังเล่นเกมใหญ่กับจีน ขณะเดียวกันก็หักหน้าสหรัฐฯ ที่ร้องขอให้เราชะลอการส่งตัว แต่เราไม่ทำตาม…สิ่งนี้อาจย้อนกลับมาเป็นแรงกดดันต่อไทยในเวทีโลก ประธานาธิปบดีทรัมป์เพิ่งออกปากชม มาร์โก รูบิโอ ว่าเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ทำงานดีที่สุด รูบิโอเป็นคนที่ดูแลเรื่องบัญชีค้ามนุษย์โดยตรง และตอนนี้หน้าแตกหมอไม่รับเย็บเพราะไทยไม่ฟังคำขอของเขา เขาน่าจะจัดการเราแน่”
อุยกูร์ปลอดภัย…หรือแค่ภาพลวงตาทางการทูต?
การที่รัฐบาลไทยดำเนินการแบบ “เงียบที่สุด” และไม่เปิดเผยรายละเอียดข้อตกลง อาจช่วนให้ปฏิบัติการนี้ราบรื่น แต่ไม่ได้ช่วยให้ความกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงหมดไป “ภาพที่จีนเผยแพร่ออกมาว่า อุยกูร์กลับไปอยู่กับครอบครัว เป็นเพียงภาพจากบางส่วนของกลุ่มที่ถูกส่งกลับ ไม่ได้สะท้อนชะตากรรมของทุกคน”
ยังมีคำถามด้วยว่า ทำไมรัฐบาลไม่เปิดเผยว่าประเทศที่สาม เช่น ตุรกี หรือสหรัฐฯ ปฏิเสธรับอุยกูร์กลุ่มนี้หรือไม่? ถ้ามีการเจรจาแล้วแต่ไม่มีประเทศใดยอมรับ ก็ควรชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้ไทยถูกมองว่าทำผิดหลักมนุษยธรรมโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้ การตัดสินใจครั้งนี้ยังอาจส่งผลต่อบทบาทของไทยใน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) ซึ่งเพิ่งเริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อต้นปี 2025 และอาจต้องเผชิญกับการตั้งคำถามจากนานาชาติว่าไทยเหมาะสมกับตำแหน่งนี้หรือไม่
“รัฐบาลไทยต้องอธิบายให้ชัดว่ามีการพูดคุยกับประเทศที่สามใดบ้าง แล้วทำไมประเทศเหล่านั้นถึงปฏิเสธรับชาวอุยกูร์ เพราะหากเราชี้แจงได้ว่าสหรัฐฯ และตุรกีไม่รับ เราก็จะมีเหตุผลโต้กลับได้…แต่ตอนนี้ดูเหมือนเรากำลังตกเป็นฝ่ายรับแรงกดดันจากทุกทาง”
ภัยก่อการร้ายรอบใหม่ ไทยต้องเฝ้าระวังให้มาก!
สิ่งที่ต้องจับตาคือ จะเกิดเหตุการณ์ตอบโต้จากเครือข่ายอุยกูร์อีกหรือไม่? การที่อุยกูร์รู้ล่วงหน้าว่าจะถูกส่งตัวกลับไปจีน แสดงให้เห็นว่าพวกเขาทำงานอย่างเป็นระบบมีเครือข่ายที่ไม่ธรรมดา แต่เป็นเครือข่ายที่มีศักยภาพและอาจมีการตอบโต้ “ไทยต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดเหตุร้ายตามมาอีก เพราะต้องไม่ลืมว่าการตอบโต้ไม่ได้มารูปแบบของการเจรจา แต่มาในรูปแบบของเหตุร้ายแรง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2558 จากกรณีไทยส่งตัวอุยกูร์ 109 คนกลับจีน ตามมาด้วยเหตุระเบิดศาลท้าวมหาพรม บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 20 คน และบาดเจ็บกว่า 120 คน และยังมีเหตุระเบิดที่ท่าน้ำสาทร รวมถึงการตรวจพบวัตถุระเบิด 3 กิโลกรัมในที่พักชาวอุยกูร์ด้วย มาครั้งนี้ไทยอาจต้องเผชิญความเสี่ยงด้านความมั่นคงรอบใหม่อีกครั้ง”
ความเสี่ยงทางการทูตที่ต้องจับตา
รศ.ดร.ปณิธาน ยังย้ำถึงสิ่งที่ไทยต้องเตรียมรับมือว่า มีทั้งการตอบโต้ทางเศรษฐกิจจากสหรัฐ ความเสี่ยงด้านความมั่นคงภายใน เพราะอาจมีการก่อเหตุร้ายอีกครั้ง คล้ายที่เกิดในปี 2558 ไปจนถึงแรงกดดันจากนานาชาติ แต่จนถึงขณะนี้คนไทยยังไม่ทราบเลยว่า ไทยได้อะไรจากการส่งอุยกูร์กลับจีน เพราะหากไม่มีผลตอบแทน รัฐบาลไทยคงไม่เลือกเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากสหรัฐฯ และโลกตะวันตกที่ดาหน้าประณามเราอยู่ตอนนี้ โดยต้องไม่ลืมว่าการส่งตัวอุยกูร์กลับจีน เกิดขึ้นหลังน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ไปเยือนปักกิ่ง