.
สถานการณ์ปลากะพงมาเลเซียที่มีนำเข้ามาในตไทยต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 ทั้งถูกกฎหมาย และลักลอบมาอย่างผิดกฎหมาย ทำให้ตลาดปลาทะเลไทยเสียรายได้มากกว่าหมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาไทยเกิดความเดือดร้อนอย่างมาก บางรายไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองต่อไปได้ สาเหตุหลักเนื่องมาจากต้นทุนของปลากะพงของมาเลเซียที่ราคาถูกกว่าปลากะพงไทยกว่าครึ่ง ทำให้สามารถเข้ามาขายได้ราคาถูกกว่าราคาปลากะพงไทย จนทำให้มูลค่าปลากะพงไทยต่ำมาก เพียงราคา 60-70 บาทต่อกิโลกรัม แม้ในขณะนี้ราคาจะขยับขึ้นมาแล้ว เพราะผู้เลี้ยงลดลง แต่เมื่อราคาดีสถานการณ์ก็จะวนกลับมานำเข้าปลามาเลเซียเพิ่มขึ้น ทุบราคาปลากะพงในประเทศอีกครั้ง ไปเปิดใจคุณสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย มองปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ต้องการให้รัฐบาลช่วยเรื่องไหน
.
เกษตรกรเลิกเลี้ยงปลากะพงแล้ว 50 % ผลผลิตหายจากตลาด 70 %
นายสุทธิ เล่าว่า ปลากะพงนำเข้าจากมาเลเซียที่มีราคาต่ำกว่าปลาของไทยประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม เข้ามาแข่งขัน โดยมาเลเซียมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย สร้างความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาไทย ไม่เพียงจะซ้ำเติมกับปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีอยู่ทุนเดิม แต่การที่ปลามาเลเซียเข้ามาแทนที่ตลาดปลาไทยทำให้เกษตรกรขาดรายได้ สถิติของสมาคมผู้เลี้ยงปลากะพงไทยเปิดเผยว่าผู้เลี้ยงปลากะพงลดจำนวนไปมากถึง 50% นับตั้งแต่เกิดปัญหาในเดือนกรกฎาคม 2562 แต่ปริมาณการผลิตส่งออกปลากะพงสูญเสียไปมากถึง 70% ขณะที่หลักเกณฑ์การตรวจสอบการนำเข้าปลากะพงจากต่างประเทศยังมีปัญหา โดยเฉพาะการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง ที่พบว่าเกษตรกรมาเลเซียมีการใช้ยาปฏิชีวนะมาก แต่พอตรวจพบก็ไม่มีการยกเลิกใบอนุญาตการนำเข้า เป็นปัญหาที่ อย.ที่มีหน้าที่ดูแลไม่ให้ความใส่ใจ หนำซ้ำยังพบว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมด่านนำเข้าส่อว่าจะฮั้วกับผู้นำเข้าในการสุ่มตรวจแบบจัดฉาก ตรวจเฉพาะส่วนที่เลือกมาว่าไม่มีปัญหาเท่านั้น
.
ยาปฏิชีวนะตกค้าง ทำคนไทยเสี่ยงเป็น “โรคดื้อยา”
การตรวจพบสารตกค้างในบางล็อตที่นำเข้า เกรงว่าจะเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค หากมีการบริโภคอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้ตัว เพราะจะเกิดการดื้อยาหากมีการป่วยจากสารตกค้างชนิดดังกล่าว ภายในปลากะพงนำเข้า ทำให้ต้องกดดันหน่วยงานภาครัฐมให้มีการตรวจโรค การสุ่มตรวจสารตกค้างมีเข้ามากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะกรมประมง และองค์กรอาหารและยา ที่ได้มีการออกมาตรการว่าผู้นำเข้าปลากะพงขาวจากมาเลเซียต้องมีหนังสือรับรองผลการตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง ที่แสดงว่าปลอดจากการตกค้างของสารเคมี 4 กลุ่ม ได้แก่ Chloramphenicol, Malachite Green, Nitrofuran Metabolite และยาปฏิชีวนะกลุ่ม Fluoroquinolone & Quinolone ซึ่งหากไม่มีหนังสือรับรองดังกล่าวประกอบการนำเข้า สินค้าจะต้องถูกอายัด
“อย. ไม่เคยลงดาบยกเลิกใบอนุญาตนำเข้ากรณีเจอสารตกค้างเลย ทั้งที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดคำถามว่ามีใครใช้ช่องทางนี้คอร์รัปชันหรือไม่ การตรวจสอบหน้าด่านก็ยากที่จะไว้ใจ เพราะมีการเคลียร์หน้าด่าน”
.
จวกรัฐบาลไม่แก้ที่ต้นเหตุ อัดฉีดเงินช่วย 60 ล้าน แต่เสียหายหมื่นล้าน
สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำคือการไปเจรจากับประเทศมาเลเซียเพื่อลดปริมาณนำเข้า รวมถึงกำหนดกติกาการตรวจสอบที่เข้มข้นขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ให้ความสนใจ ทำเพียงแค่อัดฉีดเงินอุดหนุนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจำนวน 60 ล้านบาท ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายนับหมื่นล้านบาท
“รัฐบาลไม่เคยปกป้องเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นผู้เลี้ยงปลากะพงหรือเกษตรกรอื่น ๆ ตอนนี้จะเห็นสินค้าเกษตรของจีนทะลักเข้ามาจำนวนมาก ขณะที่การทำ FTA ก็ขาดความรอบคอบ ไทยเสียเปรียบคนเดือดร้อนคือเกษตรกร สุดท้ายไทยจะกลายเป็นดินแดนสมบูรณ์แต่ต้องซื้อสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเพราะสู้เรื่องราคาไม่ได้ ส่วนเกษตรกรทำได้แค่ช่วยตัวเอง อย่างฟาร์มผมหันมายกระดับมาตรฐานให้ปลาเป็นเกรดพรีเมียม มีการรับรองความปลอดภัยในการบริโภค จึงทำให้พออยู่รอด เราไม่สามารถหวังให้รัฐบาลมาช่วยเหลือได้ ทั้ง ๆ ที่มีเกษตรกรจำนวนมากต้องทนอดตายอยู่ทุกวัน”
.