หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” ออกมาเสนอความคิดรัว ๆ อยากดันบิตคอยน์ จะใช้ภูเก็ตนำร่องเป็นแซนด์บ็อกซ์ ร่ายยาวไปถึงการให้รัฐบาลออกพันธบัตรหนุน Stabal Cion หรือพันธบัตรดิจิทัล หวังเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ดันจีดีพีไทยโตได้ 4-5 % มีความเสี่ยงอะไรที่ต้องระวัง เป็นแนวคิดที่เป็นไปได้หรือไม่
The Publisher ได้สอบถามไปยัง ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส TDRI ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ว่า ความพยายามเพิ่มสภาพคล่องโดยให้ภาครัฐออกพันธบัตร เพื่อสร้างเหรียญใหม่ขึ้นมา โดยหวังว่าจะมีการกระจายออกไป คล้าย ๆ ไอเดียเงินดิจิทัล จุดอ่อนที่ต้องระวังคือ การดำเนินการดังกล่าวเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลทำไม่ได้ และผูกโยงกับความเชื่อมั่นด้วย ถ้าเราไปออกเหรียญใหม่ เงินหมุนเวียนได้แต่มีความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพและความเชื่อมั่น เพราะแต่ละประเทศจะมีเงินแค่สกุลเดียว ในแง่นี้จึงปฏิบัติได้ยากที่เราจะยอมให้มีหน่วยงานอื่น ๆ ออกเหรียญมา มีสกุลเงินแข่งอีกสกุลหนึ่ง ถ้าถามว่าทำคล้ายกันแล้วให้ ธปท.ทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้เพราะตอนนี้ทำอยู่คือ เซ็นทรัลแบงก์ ดิจิทัลเคอร์เรนซี ทดลองแล้วเกิดขึ้นได้ง่าย แต่จะไม่เกิดการหมุนเวียนเหมือนอย่างที่รัฐบาลต้องการ คล้ายกับเงินพร้อมเพย์ ซึ่งดีอยู่แล้วการไหลเวียนของเงินก็ดีอยู่แล้ว
“ถ้ารัฐบาลจะทำเองเป็นไปได้ยากเพราะผิดกฎหมาย แต่ถ้าให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมาผลักดันแทนตามที่ต้องการเลยก็ต้องแก้กฎหมายอีก ซึ่งเชื่อว่าจะมีกระแสคัดค้านที่รุนแรง อีกทั้งขัดหลักการด้วยเพราะเราไม่ควรสร้างสกุลเงินอื่นมาแข่งขันกับสกุลเงินบาท จะเกิดความสับสน ความน่าเชื่อถือในสกุลเงินบาทจะแย่ลง ไม่ควรแทรกแซง ต้องระวังอย่างมาก หากดำเนินการเสี่ยงเกิดเงินเฟ้อ ค่าเงินบาทอ่อนเกินไป ไม่เป็นผลดี ไม่มีประเทศไหนหรอกที่จะทำแบบนี้ อย่างเช่น เอซาวาดอร์ ที่ทำอยู่ประเทศเดียวก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมาก อีกทั้งเขามีพื้นฐานขุดบิตคอยน์อยู่ แต่เราไม่มีกิจกรรมเชื่อมโยงบิตคอยน์เลย แล้วจะสร้างเหรียญขึ้นมาเอง ผมไม่เห็นมุมให้ทำแบบนั้น”
ดร.นณริฏ มองว่า นายทักษิณกำลังเกาไม่ถูกที่คัน เพราะปัญหาเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องสภาพคล่อง แต่ปัญหาอยู่ที่สภาพเศรษฐกิจจริงไม่ดี แข่งขันไม่ได้ ส่งออกไม่ได้ ภาคท่องเที่ยวฟื้นแต่เติบโตไม่มาก หนี้ประชาชนเต็มไปหมด ถ้าไม่แก้ตรงนี้ไปคิดแต่เพิ่มเงินไม่เกิดผล เพราะเงินมีเยอะอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครอยากกู้ เนื่องจากไม่มีโอกาสในการทำกำไร ถ้าเติมสภาพคล่องเข้าไปสุดท้ายจะเกิดภาวะสภาพคล่องล้น
นักวิชาการอาวุโส TDRI ท่านนี้ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ที่ระบุทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากเกิดไปจนฉุดเศรษฐกิจ เพราะไม่เกี่ยวกัน เนื่องจากเราส่งออกดี จึงมีทุนสำรองเยอะ การที่มีเยอะไม่ได้เป็นข้อเสีย ไม่ควรเอามายุ่งกับเศรษฐกิจจริง โจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้คือเศรษฐกิจจริงไม่ใช่เรื่องพลวัตรเงิน แต่ตอนนี้เอามารวมกันก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน ท้ายสุดจะเกิดปัญหา และที่วางไว้ว่าจะดันจีดีพีโต 4-5 % ก็ไม่มีทางได้ตามเป้าหมาย เพราะเติบโตเต็มที่ถ้ารัฐบาลทำได้ 3-3.6 % ก็เก่งมากแล้ว ถ้าจะให้โต 4-5 % โดยไม่มีกาปรับโครงสร้างแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย หรือเป็นไปได้ก็ต้องดึงเอาเงินในอนาคตมาใช้ นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจในปีต่อ ๆ ไปจะดิ่งลงแย่มากครับ