ในช่วงที่ผ่านมา มีการแชร์ข้อมูลบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับชาใส่สี Yellow No. 6 หรือ Sunset Yellow ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการเติมสีลงในชาเป็นอันตรายหรือไม่ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาชี้แจงว่าการใส่สีในชาบางประเภท เป็นเรื่องที่กฎหมายอนุญาต แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ชาแบบไหนใส่สีได้?
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการ อย. อธิบายว่า ชาแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ชาใบ เช่น ชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ชาผงสำเร็จรูป ชาปรุงสำเร็จ ที่มีการเติมสีและปรุงแต่งรสชาติ ในบรรดาชาประเภทต่าง ๆ ชาปรุงสำเร็จ เป็นประเภทที่มีการเติมสีผสมอาหาร ซึ่งตามกฎหมายของไทย อนุญาตให้ใส่ สี Yellow No. 6 (Sunset Yellow) ได้ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค
กระแสข่าวเกี่ยวกับภาวะสมาธิสั้นในเด็ก จริงหรือไม่?
มีรายงานบางชิ้นที่กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างสีผสมอาหารสังเคราะห์กับ ภาวะสมาธิสั้นในเด็ก อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่าสีผสมอาหารเป็นสาเหตุโดยตรง ดังนั้น อย. ยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมปริมาณการใช้สีผสมอาหารในผลิตภัณฑ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
เลือกดื่มชาอย่างไรให้ปลอดภัย?
สำหรับผู้ที่กังวลเกี่ยวกับสีผสมอาหารในชา อย. แนะนำแนวทางในการเลือกบริโภคอย่างปลอดภัย ดังนี้ อ่านฉลากก่อนซื้อ ผลิตภัณฑ์ต้องมีเลข อย. แสดงส่วนประกอบชัดเจน หากเป็นชาปรุงสำเร็จที่ใส่สี จะมีข้อความระบุ เช่น “สีสังเคราะห์ (INS110)” หรือ “สี Sunset Yellow” สังเกตสีของชา หากเป็นชาแท้ ๆ สีจะดูอ่อนเป็นธรรมชาติ ไม่เข้มฉูดฉาด ระวังชาที่ซื้อจากร้านทั่วไป หากเป็นชานม ชาเย็น หรือเครื่องดื่มชาจากคาเฟ่ ควรเลือกที่สีไม่สดเกินไป และไม่ควรดื่มชาแต่งสีบ่อยเกินไป – เพื่อป้องกันการได้รับสีสังเคราะห์ชนิดเดิมซ้ำ ๆ ควรดื่มเครื่องดื่มให้หลากหลาย
อย. ย้ำ ควรเลือกบริโภคอย่างมีสติ ลดเสี่ยงรับสารเกินขนาด
นายแพทย์สุรโชค ฝากถึงผู้บริโภคว่า เครื่องดื่มชาโดยทั่วไปไม่ใช่อันตราย แต่หากมีการแต่งสี ควรเลือกบริโภคอย่างพอดี ไม่ดื่มมากเกินไปในแต่ละวัน และควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจาก อย. เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย