นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยกับ The Publisher ถึงกรณีที่ OPPO-Realme แจ้ง กสทช.ว่า แอปฯ เงินกู้ติดตั้งจากโรงงาน ไม่ได้ขออนุญาตแบงก์ชาติว่า ข้อมูลชัดเจนว่าเกิดการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เพราะเป็นแอปฯ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบริการของมือถือโดยตรง แต่เป็นการขายพ่วงบริการเพิ่มเข้ามา โดยไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของไทยสองลักษณะคือ เป็นการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ได้อยู่ในกำกับของแบงก์ชาติที่จะสามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่ากฎหมายกำหนดที่ร้อยละสิบห้าได้ และยังพบพฤติกรรมว่ามีการปล่อยสินเชื่อ เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละสิบห้าด้วย อีกทั้งยังทำทำผิดกฎหมายเรื่องการทวงถามหนี้ด้วย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้อกับข้อมูลที่บอกว่าติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2566 เพราะสอดรับกับที่ผู้บริโภคมาร้องเรียนกับสภาองค์กรของผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าวพอดี เพียงแต่ในขณะนั้นยังไม่มีการเชื่อมโยงถึงที่มาของแอปฯ ดังกล่าวว่ามากับเครื่องมือถือเรื่องนี้ถือ เป็นพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนากระทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างชัดแจ้ง สคบ.จะต้องดำเนินการ โดยทราบว่าจะมีการเรียกทั้งสองบริษัทไปชี้แจงข้อมูล จึงขอฝากไปยัง สคบ.ให้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะคาบเกี่ยวกับบเรื่องสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่อง ล็อกไม่ให้ผู้บริโภคเลิกรับ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและเป็นอันตราย เพราะพ่วงด้วยบริการที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย ถ้าติดตั้งตั้งแต่ปี 2566 บรรดาเจ้าของซิมค่ายต่าง ๆ มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องมีการสกัดแอปฯ แปลกปลอมออกมา แต่กลับไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง ไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของประชาชน
รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวด้วยว่า คำขอโทษของ OPPO ยังไม่เพียงพอ บริษัทฯ ไม่ควรมีการขายพ่วงเอาชื่อลูกค้าไปสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ต้องถอดแอปฯ ออกไป โดยที่ผู้บริโภคไม่ต้องไปที่ศูนย์บริการแต่ตอนนี้ก็ยังดำเนินการไม่ได้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล บริษัทต้องเคลียร์ให้ชัด โดยทางสภาองค์กรของผู้บริโภค กำลังพิจารณาเรื่องการฟ้องร้องบริษัทในลักษณะฟ้องกลุ่มจากผู้บริโภคที่ร้องเรียนมาด้วย หากไม่มีการเยียวอย่างรวดเร็วและเหมาะสมก็ต้องฟ้องเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป โดยอยู่ระหว่างเช็กข้อมูลว่ายังมีผู้ประกอบการมือถือรายอื่น ๆ มีการกระทำลักษณะนี้ด้วยหรือไม่ โดยอาจมีการโฟกัสไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ ด้วย เช่น กูเกิ้ลที่ให้โหลดแอปฯ ต่าง ๆ ว่ามีแอปฯ ที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายหรืออาจทำให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายได้ ก็ควรมีการสกัดเพื่อไม่ให้มีการเสนอสินค้าที่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้บริโภค จึงขอฝากไปยังผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นด้วย
“เรื่องนี้เป็นทั้งบทเรียนและอุทธาหรณ์ที่สำคัญว่า สิทธิผู้บริโภคไม่ควรที่จะดูถูกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าผู้ประกอบธุรกิจอยากยกระดับให้สินค้าตัวเองมีมาตรฐานก็ควรคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภค โดยเฉพาะอิสระในการเลือกใช้สินค้าบริการ เรื่องการดูแลความปลอดภัยในการใช้สินค้าบริการด้วย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็ต้องมีมาตรการเชิงรุกที่จะเข้ามาดูแลด้วย โดยเฉพาะ สคบ.เพราะตอนนี้ชื่อของเราซื้อมือถือ ลงทะเบียนซิม ชื่ออยู่กับผู้ประกอบธุรกิจทั้งหมด เป็นกฎหมายบังคับคนดีให้ต้องสำแดงตน ในมือถือของแต่ละคนมีข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ควรให้มิจฉาชีพเข้าถึง แสดงว่ามีช่องทางการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคลหลายช่องทางมาก เป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญ เพราะระบบออนไลน์เป็นดาบสองคมถ้าไม่มีการกำกับที่แข็งแรงดีพอ ประชาชนหายนะได้ง่าย ๆ ครับ” นายอิฐบูรณ์ กล่าวทิ้งท้าย