ธนากร คมกฤส จากมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน เปิดบทวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ชี้ให้เห็นกระบวนการผลักดันที่เริ่มต้นจากความคลุมเครือ แต่เปิดทางให้เกิดการคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ พร้อมระบุว่า แม้รัฐบาลประกาศเลื่อนการเข้าสู่สภาฯ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยุติความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมายนี้
ธนากรตั้งข้อสังเกตว่า แม้ความต้องการเปิดกาสิโนของฝ่ายการเมืองจะมีมานาน แต่ก็ยังใช้วิธีเลี่ยงบาลีด้วยการเรียกชื่อร่างกฎหมายว่า “สถานบันเทิงครบวงจร” แทนที่จะใช้คำว่า “กาสิโน” ตรง ๆ ทั้งที่เนื้อหาชัดเจนว่า กิจการจะถือว่าครบวงจรได้ต้องมีกาสิโนเป็นแกนหลัก หากไม่มีถือว่าไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
แม้ร่างกฎหมายจะระบุว่า กาสิโนจะมีได้ไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด แต่ธนากรชี้ว่า 10% นี้คือไข่แดงที่ทำกำไรมหาศาล ในขณะที่พื้นที่ส่วนอื่นจะเป็น “ไข่ขาว” ที่ไม่มีบทบาทเทียบเท่า และที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือโครงสร้างของกฎหมายที่เอื้อต่อการคอร์รัปชันอย่างชัดเจน
เขาอ้างอิงสมการคอร์รัปชันของ ศ. Robert Klitgaard ที่ว่า
“C = M + D – A”
ซึ่งแปลว่า การโกง (C) เกิดจากการผูกขาด (M) บวกกับอำนาจดุลพินิจ (D) ลบด้วยการตรวจสอบถ่วงดุล (A)
โดยชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. นี้มีครบทุกตัวแปร
- ผูกขาด: ใบอนุญาตแบบ Super License ที่ให้สิทธิกับกลุ่มทุนไม่กี่ราย ใช้พื้นที่เช่าได้เกิน 30 ปี ได้รับการส่งเสริมการลงทุน และได้รับการยกเว้นกฎหมายหลายฉบับ
- อำนาจดุลพินิจ: อยู่ในมือของ “คณะกรรมการนโยบาย” ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีอำนาจตั้งแต่การอนุมัติใบอนุญาต กำหนดพื้นที่ภาษี ไปจนถึงการยกเลิกกฎหมายอื่น
- การตรวจสอบที่อ่อนแอ: ไม่มีหลักประกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีระบบฟังเสียงผู้มีส่วนได้เสีย และยังไม่ชัดเจนว่า “เงินหลักพันล้าน” ที่เกิดจากค่าธรรมเนียมและผลประโยชน์จะเข้าสู่คลังหรือไม่
ธนากรสรุปว่า “นี่คือความจริงของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่เริ่มต้นด้วยความขี้อาย แต่ลงท้ายกลายเป็นการเอื้อให้เกิดการขี้โกง”
แม้ล่าสุดมีข่าวว่ารัฐบาลจะเลื่อนการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร แต่เขาย้ำว่า
“เลื่อน ไม่ใช่เลิก…แค่ฝากไว้ก่อน เผลอเมื่อไร ฉันจะเอากลับมาแล้วเดินหน้าต่อ”