เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ในรายการ “เที่ยงเปรี้ยงปร้าง” ดำเนินรายการโดย สมจิตต์ นวเครือสุนทร
หลังจากจีน–สหรัฐฯ หย่อนกำปั้นลงคนละข้าง บรรยากาศโลกก็ผ่อนคลายลงชั่วคราว สงครามการค้าอันยืดเยื้อที่เคยสั่นคลอนเศรษฐกิจโลก เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันกลับกลายเป็นเสียงเตือนสำคัญถึงประเทศไทย—ว่าห้ามนิ่งเฉย
“ตอนนี้หลายประเทศเริ่มบรรลุข้อตกงลง ไทยกลับยังไม่มีความคืบหน้า”
อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ในรายการ เที่ยงเปรี้ยงปร้าง โดยชี้ว่า แม้การสงบศึกชั่วคราวของสองมหาอำนาจจะช่วยให้บรรยากาศโลกดีขึ้น แต่อย่าลืมว่าความไม่แน่นอนยังคงอยู่ และประเทศที่ไม่ทันเกม—อาจกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป
“แม้รัฐบาลไทยจะบอกว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ก็ยังไม่เห็นภาพความคืบหน้าอย่างจริงจัง ขณะที่หลายประเทศ เช่น อังกฤษ ก็บรรลุข้อตกลงแล้วตามมาด้วยจีน แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ เองก็เลือกเจรจากับประเทศที่เห็นว่า ‘สำคัญ’ ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นสัญญาณทางการเมืองระหว่างประเทศด้วย”
เขาเตือนว่าไทยเคยประกาศนัดเจรจากับสหรัฐฯ วันที่ 23 เม.ย. แต่กลับเลื่อนโดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน และยังมีข่าวว่า รัฐมนตรีบางคนอาจไม่สามารถเดินทางไปร่วมได้อีก
ภาพใหญ่ทางเศรษฐกิจ—อยู่ที่ไหน?
อภิสิทธิ์ชี้ว่ารัฐบาลไม่มี “ภาพใหญ่” ทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน นโยบายหลายอย่างขาดการสื่อสาร ไม่ต่อเนื่อง และสร้างความสับสน เช่น การกู้ 5 แสนล้านที่เงียบหายไป การเก็บภาษีธุรกิจรายย่อยที่ดูรีบเร่ง และไม่มีแผนจัดการกับงบประมาณหรือพื้นที่การคลังให้ชัด
“รัฐบาลควรใช้ช่วงเวลาพิจารณางบประมาณเป็นโอกาสแสดงท่าทีให้ชัดเจนว่า จะกู้หรือไม่กู้ จะเก็บภาษีเพิ่มแบบไหน จะขาดดุลแค่ไหน ทำให้เห็นทิศทางทั้งหมด ไม่ใช่ปล่อยข่าวเป็นท่อน ๆ แล้วให้คนคาดเดาเอง”
เมื่อภาคเอกชนปรับตัว แต่รัฐยังสื่อสารไม่พอ
แม้ภาคเอกชน—โดยเฉพาะผู้ส่งออกไปสหรัฐฯ—จะเริ่มเจรจาและปรับตัวกันบ้างแล้ว เช่น การลดราคาเพื่ออยู่รอดในตลาด แต่อภิสิทธิ์เตือนว่า หากรัฐบาลยังไม่จัดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรม และไม่มีท่าทีชัดเจนในการเจรจา ไทยจะเสียเปรียบประเทศอื่นที่กำลังทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
“รัฐบาลต้องไม่เงียบ นายกฯ ควรสื่อสารให้ภาคเอกชนมั่นใจว่าจะประคองเศรษฐกิจอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้”
เขายังระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องหารือกับอาเซียนอย่างจริงจัง ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละประเทศดิ้นกันเองโดยไม่มีท่าทีร่วมกัน
พื้นที่การคลัง–นโยบายการเงิน: คนละเรื่องแต่ต้องเดินไปพร้อมกัน
อภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าแบงก์ชาติควรแบกรับทุกอย่างแทนรัฐบาล เขาชี้ว่า รัฐต้องจัดการพื้นที่การคลังของตนให้ดีเสียก่อน
“ต้องชัดเจนว่าเงินจะใช้กับอะไร ใช้อย่างไรไม่ให้เกินตัว และไม่ทำลายวินัยการคลัง ส่วนแบงก์ชาติก็ต้องขยับมากกว่าการพูดแค่เรื่องดอกเบี้ย ต้องให้ระบบการเงินช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจจริง ไม่ใช่ปล่อยให้ธนาคารมีกำไรสบาย ๆ แต่ธุรกิจหาเงินไม่ได้”
“ทุกองคาพยพของรัฐต้องขยับ เพื่อให้ประเทศผ่านความไม่แน่นอนนี้ไปให้ได้”
เป็นคำย้ำจากอดีตนายกฯ ที่ไม่ได้เพียงเตือนให้ตั้งสติ แต่ชี้ว่ารัฐต้องใช้ “ทั้งภาพรวมและความกล้า” เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจากศึกที่ไม่ได้มีแค่ภาษี แต่ยังมี “ความเชื่อมั่น” ที่ตกหล่นอยู่ข้างทาง
“รัฐบาลอย่าเมาหมัดกับปัญหาการเมือง จนหลุดโฟกัสเรื่องเศรษฐกิจ”
อดีตนายกฯ เตือนตรง ๆ ว่า รัฐบาลต้องมีสมาธิ แสดงให้เห็นว่ากำลังทำอะไรกับปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละกระทรวงต่างคนต่างทำ โดยไม่มีภาพใหญ่ที่ชัดว่ายุทธศาสตร์รัฐบาลคืออะไร ทำให้ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้
“การเมืองก็แก้ไป แต่งานของรัฐบาลต้องเดินต่อ มันไม่ใช่เวลาที่จะปล่อยให้คนนอกระบบเข้ามามีบทบาทปนเปกับภารกิจของรัฐ ตอนนี้มันหนักมาก ทั้งเศรษฐกิจโลก ทั้งนโยบายของทรัมป์ที่เดายาก รัฐบาลจะทำเป็นเล่นไม่ได้”
ทักษิณจบ…รัฐบาลสะเทือน
เขาวิเคราะห์ชะตากรรมทักษิณทีกำลังเผชิญความยากลำบากในสองคดี คือชั้น 14 และมาตรา 112 ว่า ล้วนเกิดจากการกระทำของตัวเองทั้งสิ้น จึงไม่สามารถหลีกหนีความรับผิดชอบจากการกระทำของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นในทางกฎหมายหรือการเมือง และต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทย นายกฯ แสดงท่าทีตอบสนองต่อความต้องการของทักษิณมาโดยตลอดถ้ายังผูกอยู่แบบนี้ หากทักษิณเป็นอะไรไปย่อมกระทบรัฐบาลด้วย