เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำหรับเทศกาล “กินเจประจำปี 2564” เทศกาลถือศีลกินผักสุดยิ่งใหญ่ ที่คนไทยเชื้อสายจีนยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยในปีนี้จะเริ่มกินเจกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 – 14 ตุลาคม
.
แต่รู้หรือไม่ว่า เทศกาลกินเจในแผ่นดินใหญ่อย่างจีนเองนั้น ไม่มีการจัดการอย่างเป็นทางการเหมือนที่ไทย ถึงแม้ที่มาของเทศกาลจะมาจากชาวจีนก็ตาม เพียงแต่ว่าเทศกาลดังกล่าว ไม่ได้ทำกันอย่างแพร่หลาย หรือเป็นเทศกาลใหญ่ที่มีประเพณีร่วมกันทั่วโลกเหมือนอย่างวันตรุษจีน
.
เพราะการกินเจนั้นเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น ไม่ได้ทำกันทั่วทั้งประเทศ คนจีนที่กินเจส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน และแต้จิ๋ว อยู่ในมณฑลฟูเจี้ยน ซึ่งชาวจีนในละแวกนี้ก็มักอพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย
.
ในส่วนของประเทศไทยนั้น เทศกาลกินเจเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อ 194 ปีก่อน (ประมาณ พ.ศ. 2368-2400) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่คนไทยรู้จักกับการกินเจเป็นครั้งแรก! สมัยนั้นคนจีนจากมณฑลฮกเกี้ยน(ฝูเจี้ยน), แต้จิ๋ว, ซัวเถา ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยและทำมาหากินในเมืองไทย บริเวณพื้นที่หมู่บ้านกะทู้ ตำบลกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำนวนมาก เพื่อทำอาชีพขุดแร่ดีบุกและทำเหมืองแร่กันตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา (ในสมัยรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) และมีการค้าขายแร่ดีบุกกับโปรตุเกส ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น
.
คนจีนกลุ่มนี้เองที่นำเอาประเพณีกินเจ หรือ เจี๊ยะฉ่าย เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเพณีที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาเต๋า (ลัทธิเต๋า) ที่พวกเขานับถือ โดยพวกเขามีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าประจำตระกูลหรือเทพเจ้าประจำหมู่บ้าน เช่น เทวดาฟ้าดิน และเซียนต่าง ๆ
.
หากมีเหตุเภทภัยอันใดเกิดขึ้น ก็จะแก้เคล็ดด้วยการอัญเชิญเทพเจ้าแต่ละพระองค์ที่ตนนับถือ มาบูชากราบไหว้เพื่อให้คุ้มครองปกป้องรักษาตน พร้อมกับการ “ถือศีลกินผัก” งดบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด งดทำบาปเพื่อหวังให้เภทภัยต่าง ๆ หายไป โดยมักจะกินเจ 9 วัน เพราะถือว่าเป็นการบูชา 9 เทวกษัตริย์ ที่เชื่อว่าจะมารับเคราะห์หรือเภทภัยต่าง ๆ แทนมนุษย์
.
แต่ถ้าหากสืบสาวราวเรื่องลึกลงไป พบว่าประเพณีกินผักดังกล่าว จริง ๆ แล้วมีต้นกำเนิดมาจากจีนนั่นเอง เพียงแต่มีเฉพาะในชุมชนจีนบางมณฑลเท่านั้น เป็นประเพณีที่ชาวจีนกลุ่มเล็ก ๆ ทำกัน ไม่ได้มีแพร่หลายไปทั่วทั้งประเทศจีน เมื่อคนจีนกลุ่มนี้อพยพมาที่ไทยก็นำประเพณีนี้ติดตัวมาด้วย
.
ปัจจุบันประเพณี “ถือศีลกินผัก” ของชาวจีนที่นับถือ “ลัทธิเต๋า” ในบางมณฑลดังกล่าว ได้สูญหายไปแล้วทั้งหมด
.
แต่กลับยังคงมีให้เห็นได้ที่ภูเก็ตบ้านเรา และกระจายไปทั่วประเทศไทย สมัยแรก ๆ มีแค่การถือศีลกินผักธรรมดาตามโรงเจ ไม่ได้มีขบวนแห่ม้าทรงหรือจัดงานเทศกาลยิ่งใหญ่เหมือนในปัจจุบัน
.
.