.
“กรุงเทพฯ ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว” วลีดังกล่าวนี้ถูกทำเป็นแบนเนอร์โฆษณาสะท้อนคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานครยาวนานเท่าไหร่ไม่มีใครทราบ แต่สิ่งหนึ่งที่ต่อให้เกิดการตั้งคำถามที่น่าสนใจในวลีนี้เห็นทีคงจะเป็นประโยคที่ว่า “ชีวิตดี ๆ ที่ลงตัวนั้นเป็นจริงอย่างที่กล่าวแน่หรือ?” จากเหตุสลดใจกลางห้างดังที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของชาวต่างชาติ ด้วยอายุของผู้ก่อเหตุเพียงเท่านี้กลับสร้างความเสียหายมหาศาล แน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนในสังคม อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในประเทศ “ห้าง” ที่ควรจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจกลับกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่คนร้ายใช้ก่อเหตุอุกอาจได้อย่างง่ายดาย
.
ซึ่งหากย้อนเหตุการณ์กลับไป ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุสลดคล้ายกันในกรณีของเหตุกราดยิงโคราช ณ ห้างสรรพสินค้าTerminal 21 โคราช เมื่อปี 2563 และเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู บริเวณศูนย์เด็กเล็ก เมื่อปี 2565 โดยมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจาก 2 เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก นับเป็นคดีสะเทือนขวัญ เนื่องจากเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู คนร้ายลงมือด้วยความอำมหิตก่อเหตุกับเด็กเล็ก รวมถึงครูและประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ สร้างความสะเทือนใจที่บีบหัวใจคนไทยทั้งประเทศ
.
โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ ถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิงทุกเหตุการณ์ ทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศ จนเกิดเป็นโครงการฝึกอบรมการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการรับมือกับเหตุกราดยิง (Active shooter) และนำมาต่อยอดเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในการรับมือกับการเผชิญเหตุกราดยิง พร้อมทั้งเดินหน้ากระจายความรู้ตามหลักการ “หนี-ซ่อน-สู้” สู่สถานศึกษา ตั้งแต่ระดับเด็กเล็ก เด็กอนุบาล ไปจนถึงระดับมัธยมปลาย หากเหตุเกิดในโรงเรียนต้องทำอย่างไร หากเกิดเหตุในห้างสรรพสินค้าหรือพื้นที่สาธารณะต้องทำอย่างไร พนักงานรักษาความปลอดภัยต้องรู้วิธีการรับมือ โดยจะมีการสาธิตเหตุการณ์จริงว่าเมื่อมีคนร้ายก่อเหตุยิงกราดจะมีวิธีการในการเอาตัวรอดอย่างไร
.
.
หลักการ “หนี – ซ่อน – สู้”
หนี – เมื่อเจอกับเหตุกราดยิง สิ่งแรกที่ต้องทำคือวิ่งหนีหาทางออกที่ปลอดภัยจากสถานที่นั้นให้เร็วที่สุด โดยขณะวิ่งควรเงียบเสียง ไม่ทำเสียงดังให้คนร้ายรู้ว่าอยู่ตรงไหน หลีกเลี่ยงพื้นที่เกิดเหตุ ไม่กลับไปยังพื้นที่นั้นจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย
ซ่อน – หากไม่สามารถวิ่งหนีได้ ให้หาที่ซ่อนที่มิดชิดและกันกระสุนได้ หลีกเลี่ยงการซ่อนหลังประตู เพราะคนร้ายอาจจะยิงทะลุประตูเพื่อบุกเข้ามา และควรปิดเสียงโทรศัพท์ หรี่แสงหน้าจอให้แสงเหลือน้อยที่สุด และรอจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัย
สู้ – หากไร้ทางหนีและต้องหันมาสู้เพื่อหาทางรอด พยายามมีสติให้มากที่สุด ในการต่อสู้ให้มุ่งไปที่จุดอ่อนของผู้ร้าย เช่น ตา ต้นคอ หรือจุดอ่อนอื่น ๆ เมื่อคนร้ายเสียหลักเราก็พยายามหนีให้เร็วที่สุด
.
ซึ่งนอกจากการเผยแพร่หลักการ “หนี – ซ่อน – สู้” สู่สถานศึกษาแล้ว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของยุทธวิธีการตอบโต้ในกรณีผู้ก่อเหตุมีอาวุธปืน จึงได้มีนโยบายให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่อารักขาบุคคลสำคัญ และทำหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ ได้รับการฝึกฝนยุทธวิธีการตอบโต้สถานการณ์กรณีคนร้ายก่อเหตุด้วยอาวุธปืน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ มีการพัฒนายุทธวิธีการใช้อาวุธ ตลอดจนเรียนรู้ยุทธวิธีป้องกันตนเองในกรณีผู้ก่อเหตุมีอาวุธ จึงได้จัดทำโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการตอบโต้สถานการณ์กรณีคนร้ายก่อเหตุด้วยอาวุธปืน (Active Shooter Training) ขึ้น
.
นอกจากนี้ ได้เชิญเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านข่าวกรองและความมั่นคงภายในของสหรัฐอเมริกา Federal Bureau of Investigation : FBI มาเป็นวิทยากรประจำหลักสูตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์อันดีกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานเป็นอย่างดีในทุกระดับตลอดมา ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์และเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันในอนาคต
.
ซึ่งการฝึกอบรมครั้งนี้ เป็นแนวทางหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะพัฒนาความรู้ และเพื่อเสริมสร้างให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทราบถึงยุทธวิธีพิเศษ และเทคนิคการใช้อาวุธปืนในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การเคลื่อนที่ภายในอาคาร การเข้าตรวจค้นภายในห้อง รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้รักษากฎหมาย และรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับประชาชน ตลอดจนลดความสูญเสียต่อตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรหลักดังกล่าวเสร็จแล้ว ก็นำความรู้มาถ่ายทอดให้กับกำลังพลในสังกัด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป
.
เพราะเหตุการณ์อันตรายเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่มีใครสามารถรู้ได้ล่วงหน้าว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือที่ไหน สิ่งที่ทุกคนทำได้เป็นอันดับแรกคือช่วยเหลือตัวเองเพื่อเอาชีวิตรอดจากสถานการณณ์ ณ ขณะนั้น
.
โดยทางตำรวจได้ดำเนินการโครงการนี้มาหลายปีแล้ว และยึดมั่นที่จะกระจายองค์ความรู้ดังกล่าวนี้ต่อไป เพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด เพราะการสูญเสียไม่ควรเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้น ทุกชีวิตเมื่อเกิดการสูญเสียไปแล้ว ไม่มีสิ่งใดสามารถทดแทนได้อีก
.
อ้างอิง : https://www.dailynews.co.th/news/2334388/