.
วันที่ 17 ต.ค.66 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เป็นประธานในพิธีมอบ “แหวนอัศวิน” ให้กับ ร.ต.อ.ธัญอมร หนูนารถ รอง สวป.ปทุมวัน เข้าระงับเหตุกราดยิง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ สืบต่อประเพณี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ มอบแหวนอัศวิน เพื่อยกย่องข้าราชการตำรวจที่มีผลการปฏิบัติงานโดดเด่นเป็นประจักษ์ สร้างคุณประโยชน์ หลังพิธีกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของข้าราชการตำรวจและนักเรียนนายร้อยตำรวจ ณ ลานฝึกศรียานนท์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จว.นครปฐม
.
“แหวนอัศวิน” เป็น “สัญลักษณ์” ของตำรวจที่มีผลงานโดดเด่นในยุค พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีตำรวจผู้เรืองอำนาจ เจ้าของฉายา “บุรุษเหล็กแห่งเอเซีย” ในยุคสมัยของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้ที่กล่าว Quote อมตะที่ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง”
.
.
แต่ผู้คนมักจะตัดมาเฉพาะส่วนแรก “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ในเชิงประชดประชัน ซึ่งสามารถอธิบายถึงความอหังการของ “กองทัพตำรวจ” ในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในยุคหลังจากที่ พล.ต.อ.เผ่าฯ ย้ายจากทหารมาเป็นอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.เผ่าฯ ได้พัฒนากรมตำรวจที่อย่างก้าวกระโดด โดยหลายนโยบายก็เอามาจากกองทัพ ทำให้ตำรวจเกิดหน่วยที่คล้ายกับทหารขึ้นมา เช่น ตำรวจพลร่ม ตำรวจรถถัง ตำรวจน้ำ ตำรวจม้า และยังมีการสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักต์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย
.
ตำรวจในยุคนั้นยิ่งใหญ่ แม้จะอยู่สังกัดกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ได้รับการขนานนามว่า “รัฐตำรวจ” บ้างก็ว่า “กองทัพตำรวจ” เทียบเคียงกับกองทัพทหารเหล่าอื่น ๆ
.
ด้วยความที่ยุคสมัยนั้นเป็นยุคสงคราม ทำให้มีนักเลงอันธพาลชุกชุม ทั่วประเทศเต็มไปด้วยเสือ โจร ผู้มีอิทธิพล และข้าราชการฉ้อฉล การเมืองทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความวุ่นวาย ผู้บังคับกฎหมายอย่างตำรวจต้องมีความเด็ดขาด จึงทำให้ตำรวจยุคนั้นต้องเข้มแข็ง ดุเดือด ภายใต้การบังคับบัญชาของอธิบดีเผ่าฯ ท่านจึงอยากจะมอบรางวัลให้กับนายตำรวจลูกน้องคนสนิททั้ง 4 คนที่ทำงานเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเกือบเอาชีวิตไม่รอดมาหลายครั้ง และยังทำหน้าที่เป็นขุนพลค้ำบัลลังก์ให้กับบุรุษเหล็กแห่งเอเซีย
.
อธิบดีเผ่าฯ ได้สวมแหวนให้ลูกน้องคนสนิทคนละวง เป็นแหวนทองคำลงยาสีแดงชาด ที่หัวแหวนเป็นตราหน้าหมวกตำรวจหรือตราแผ่นดินสีทอง อธิบดีเผ่าตั้งชื่อแหวนนี้ว่า “แหวนอัศวิน”
.
ผู้ที่ได้รับแหวนนั้น จะได้รับคำสั่งให้สรวมไว้ที่นิ้วนางข้างขวาเป็นประจำ จะถอดออกเสียมิได้ ถ้าเมื่อใดได้พบท่านผู้ให้แหวนนั้น แล้วท่านไม่เห็นแหวนวงนั้นอยู่ที่นิ้วนางข้างขวา ผู้นั้นก็จะถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเรียกแหวนวงนั้นคืน ตัดออกจากบัญชีไปเลย ดังนั้นคนที่ได้รับแหวนอัศวินจะต้องสวมไว้ตลอด 24 ชม. จะนอน จะอาบน้ำ หรือจะทำอะไร ก็ถอดไม่ได้ หากอธิบดีเผ่าฯ รู้ว่าถอดออก ก็จะถูกปลดและยึดแหวนคืน
.
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คำว่า “อัศวิน” ก็ได้โด่งดังไปทั่วเมือง ซึ่งหลังจากที่อธิบดีเผ่าฯ ได้มอบแหวนอัศวินให้กับนายตำรวจคนสนิททั้งสี่แล้ว ท่านก็ได้มอบให้กับนายตำรวจที่ทำชื่อเสียงในทางปราบปราม และในทางการงานอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการตำรวจไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนครบาล หรือฝ่ายภูธรอีกหลายคน ยุคนั้นเป็นยุคที่ผู้คนขนานนามว่า ยุคอัศวินผยอง
.
เมื่อจำนวนนายตำรวจที่ได้รับ “แหวนอัศวิน” มีมากขึ้นเป็นหลายสิบคน อธิบดีเผ่าฯ ก็ได้แบ่งระดับของ “แหวนอัศวิน” ด้วยการเอาเพชรมาติดที่หัวแหวนเป็นการยกระดับให้กับพวกที่ทำงานเสี่ยงชีวิตชนิดสมบุกสมบันในหน้าที่จริง ๆ ก็เลยเกิดคำว่า “อัศวินแหวนเพชร” โดยมีคนที่ได้รับไปทั้งหมดแค่ 13 คนเท่านั้น
.
.
ความโด่งดังของอัศวินยังได้ลุกลามไปถึงชื่อเมนูอาหารในร้านชื่อดังแห่งหนึ่งย่านราชวงศ์คือร้านสีฟ้า อันเนื่องมาจากการที่เหล่าอัศวินนั้นนิยมไปรับประทานอาหารที่ร้านนี้เป็นประจำ และได้สั่งให้เจ้าของร้านทำบะหมี่ที่ใส่เครื่องสารพัดทั้งหมู ไก่ กุ้ง ปู ปลา จนกระทั่งลูกค้าคนอื่นเกิดอยากจะสั่งตามแต่ก็เรียกไม่ถูก เมื่อถามจากเจ้าของร้านก็ได้คำตอบว่า “อ้อ บะหมี่ของพวกอัศวิน” ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้บะหมี่อัศวินก็กลายเป็นรายการอาหารยอดนิยมของร้านอาหารแห่งนี้ไปโดยปริยาย ซึ่งยังสามารถหาทานได้ที่ร้านสีฟ้าทุกสาขา
.
จุดจบของยุคอธิบดีเผ่าฯ นั้น จบลงเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป. ทำให้อธิบดีเผ่าฯ ต้องพ้นตำแหน่ง และลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศในช่วงบั้นปลายชีวิต
.
ความยิ่งใหญ่ของ พล.ต.อ.เผ่าฯ และเหล่า “อัศวินแหวนเพชร” นั้น ถูกยกย่องในแง่ของความกล้าหาญ ผลงานการปราบเสือปราบโจรทั่วประเทศ และการยกระดับองค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่ก็ถูกครหาในแง่ของการเป็นผู้มีอิทธิพล ใช้วิธีปราบอย่างเด็ดขาด รุนแรง ที่เป็นรอยด่างจนทุดวันนี้ อาทิ คดีจับหะยีสุหรง อับดุลกาเดร์ (พ่อของเด่น โต๊ะมีนา ปู่ของพญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา) ถ่วงน้ำเมื่อปี 2497 การมีร่องรอยเกี่ยวข้องกับคดีทางการเมือง อาทิ คดีฆ่า 4 อดีตรัฐมนตรีสายปรีดี พ.ศ. 2492 เป็นต้น
.
การที่ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. นำเรื่อง “แหวนอัศวิน” กลับมาในปัจจุบันนั้น จึงเป็นที่น่าจับตามอง เกี่ยวกับแนวทางการยกระดับองค์กรตำรวจ และการทำงานพิทักษ์สันติราษฎร์ ของ บิ๊กต่อฯ หลังขึ้นรับตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นเบอร์หนึ่งของวงการสีกากี เช่นเดียวกันกับที่ อธิบดีเผ่าฯ เคยเป็น
.