.
วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย. 66 เวลา 13.00-15.00 ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมร่วมกันจัดเสวนา “ก้าวแรกสู่การสร้างสถานที่ทำงานไม่เพิกเฉยต่อการคุกคามทางเพศ” เป็นครั้งแรก ณ Clayzy Café ศูนย์การค้าซีซั่นมอล พญาไท เป็นกิจกรรมแรกของเดือนพฤศจิกายนซึ่งถูกกำหนดให้เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล
.
โดยภาคประชาสังคม ได้แก่ The Publisher, Thaiconsent, SHero, Social Equality Promotion Foundation, ACWC-Thailand for Women’s Rights, Nabi Fellows, งานเสวนาอย่างไม่เป็นทางการ เผยที่มาของการจัดเสวนานี้ว่า เป็นการตอบสนองประเด็นเร่งด่วน อันเนื่องมาจากการร้องเรียนกรณีคุกคามทางเพศในที่ทำงานที่ถูกนำเสนอผ่านสื่ออย่างบ่อยครั้งในปีนี้ ยังไม่นำพามาซึ่งมาตรฐานอย่างที่ ‘ควรจะเป็น’ และทวีความซับซ้อนมากขึ้นเมื่อที่ทำงานดังกล่าว เป็นพื้นที่ของงานทางการเมือง
.
วัตถุประสงค์ของกิจกรรมดังกล่าว คือการเชิญชวนผู้ที่สนใจในประเด็น และต้องการเสนอแนวทางในการยกระดับความปลอดภัยทางเพศในที่ทำงาน ทั้งบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา นักการเมือง สื่อมวลชน นักกิจกรรม ศิลปิน มาร่วมทำความเข้าใจ เสนอแนวทางหรือประสบการณ์ รวมถึงแสดงพลังร่วมกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะต่อไป
.
สำหรับผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย
- บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้ง SHero Thailand
- สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
- รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC-Thailand for women’s rights)
- พลตรี วันชนะ สวัสดี
- วิภาพรรณ วงษ์สว่าง Thaiconsent รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ
.
.
การเสวนาเป็นไปอย่างเข้มข้น ดำเนินยาวนานเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง 30 นาที โดยพูดถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น มายาคติที่สังคมสร้างและยังคงอยู่ระหว่างการรื้อ, ข้อกังขาของการเมืองในที่ทำงานและเมื่อที่ทำงานเป็นพรรคการเมือง, ข้อท้าทายของผู้เสียหายจากการคุกคามทางเพศในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม, พัฒนาการทางด้านข้อกฎหมายอาญาและกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ, กลไกระหว่างประเทศและกรณีศึกษาในการสร้างการรับรองอย่างเป็นทางการของนโยบายไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงทางเพศ, ความสำคัญของการร่วมมือกันโดยทุกคนในสังคม และการสร้างบรรทัดฐานกลางในการยุติความรุนแรงทางเพศ และการถอดปรากฎการณ์ความเข้าใจสาธารณะผ่านสื่อเมื่อเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศในที่ทำงาน
.
.
โดยหนึ่งในประเด็นร้อนที่ประชาชนให้ความสนใจและแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์จำนวนมาก เป็นกรณีการคุกคามทางเพศที่เกิดในพื้นที่งานทางการเมือง โดยสุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม เล่าถึงประสบการณ์ในการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 โดยกล่าวว่าตั้งแต่ทำงานในด้านนี้มา ตนได้รับมือกับกรณีที่ผู้กระทำเป็นคนมีฐานะ มีอำนาจ มีตำแหน่ง หรือมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ประจักษ์ในทางสาธารณะ ทั้งผู้กระทำที่เป็นทหาร ตำรวจ นักบวช นักการเมือง โดยจากประสบการณ์ ภาพลักษณ์ดังกล่าวไม่ใช่เครื่องการันตีว่า ตัวตนที่น่านับถือของเขา จะเป็นตัวตนเดียวกันกับตอนที่มีโอกาสลงมือ
.
“หากจะกล่าวว่าอารมณ์ทางเพศควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะในตอนที่ไปปาร์ตี้รู้สึกมึนเมา ขอถามหน่อยว่า สมมุติถ้าเป็นเช่นนั้นจริง คนที่ออกจากปาร์ตี้มา ถ้าเขาเห็นป้าขายไก่ย่างหน้าผับเป็นคนแรก เขาจะพุ่งหาป้าขายไก่ย่างเลยหรือไม่? ที่จริงผู้กระทำเขามีสติมากพอที่จะเลือกเหยื่อที่หมายตา โดยจะเล็งหรือเลือกมาก่อน หรือสร้างสถานการณ์ที่ปูทางไปสู่การฉวยโอกาสให้เกิดขึ้นได้ ที่จริงแล้วผู้กระทำในลักษณะนี้เขาคิดคำนวณมาเป็นอย่างดีว่าจะทำกับใคร ในพื้นที่ไหน ในสถานการณ์ใด และในรูปแบบใด ที่ตนทำเองแล้วมีโอกาสรอดหรือพอรับมือได้ โดยเลือกทำในสิ่งที่ไม่ทิ้งพยานและหลักฐาน”
.
.
สุเพ็ญศรียังกล่าวว่า “หนึ่งในการสร้างสถานการณ์ หรือหนึ่งในการฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ผู้ถูกกระทำปฏิเสธได้ยาก (หรือยากที่จะปฏิเสธสำเร็จ) เป็นโอกาสที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางการทำงานเพราะเป็นสถานการณ์ที่ตัดสินใจได้ยาก” เพราะผู้ถูกกระทำต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อความสัมพันธ์กับคนอื่นในที่ทำงาน หรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อต้องร้องเรียนนายจ้าง รุ่นพี่ หรือคนที่มีอำนาจหรือชื่อเสียงทางสังคมมากกว่า
.
โดย บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ผู้ก่อตั้งองค์กร SHero ยังได้เสริมถึงมายาคติที่เป็นปัจจัยหนุนเสริม ที่เอื้อให้ผู้กระทำกล้าลงมือ ด้วยเชื่อว่า หากลงมือแล้ว ยังไงก็มีช่องว่างที่จะทำให้เหยื่อไม่เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
.
“สังคมเรายังคาดหวังว่าผู้เสียหายจะต้องเป็นคนที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง และต้องต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่าความน่าเชื่อถือ ซึ่งมักถูกทวงถามจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน ทั้งที่ในความเป็นจริง จะมีผู้ถูกกระทำสักกี่คนที่ถูกละเมิดแล้วรีบเก็บ DNA หรือเก็บหลักฐานทางชีวภาพต่างๆ แล้วเข้าไปแจ้งความในทันที เพราะอันที่จริงแล้วกลไกทางจิตวิทยาของคนเราเมื่อเข้าสู่โหมดป้องกันตนเองจากความทรงจำที่เจ็บปวด (Trauma) มันไม่ได้มีแค่การสู้หรือหนี (Fight or Flight) แต่ยังมีการหยุดนิ่ง (Freeze หรือ Tonic Immobility) ทำให้คนจำนวนมากเริ่มขอความช่วยเหลือหลังจากเวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี”
.
.
นอกจากนี้ วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้ง Thaiconsent ยังตั้งคำถามกับบทบาทของสื่อที่เอาวิธีคิดของข่าวทั่วไปมาใช้กับประเด็นคุกคามทางเพศ โดยนักข่าวเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวจากทั้งสองฝั่งอย่างละเอียด เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอต่อสาธารณะชน (ในการเลือกเชียร์หรือเลือกแช่ง) การอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชมในลักษณะนี้ จึงไม่ต่างจากมหรสพในรูปแบบการนำเสนอข่าว ที่เป็นทั้งการละเมิดซ้ำ เป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากสถานการณ์ และในหลายครั้งก็เป็นเครื่องมือฟอกขาวให้กับผู้กระทำที่มีความคุ้นเคยกับการใช้พื้นที่สื่อ และใช้โอกาสที่สาธารณชนขุดคุ้ยเรื่องราวของผู้ถูกกระทำ มาเป็นหนทางในการบั่นทอนกำลังผู้ที่คิดจะสู้ถอนใจไปเอง
.
.
ในแง่มุมการเมือง สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ตอบกลับคำถามของผู้ชมที่ถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับความเห็นสาธารณะที่มองว่า ประเด็นคุกคามทางเพศอาจเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือมองว่าเราควรให้โอกาสคนที่ทำงานได้ดี ในการกลับตัวและปรับพฤติกรรม โดย สุเพ็ญศรี ยืนยันหนักแน่นว่า “การเมืองที่มีแน่ ๆ ในเรื่องนี้ คือการเมืองของคนที่โอบอุ้มพรรคพวกของตัวเอง ด้วยข้ออ้างต่างๆ ที่นำไปสู่การปฏิเสธความรับผิดชอบ ก็คงอุ้มกันจนกว่าจะจนมุม” โดยมุมที่ว่านี้ สุเพ็ญศรีไม่ได้หมายถึงท่าทีของประชาชนที่เสนอให้ไปร้องต่อ กกต. เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของ สส. (ซึ่ง กกต. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในส่วนนี้) หรือคำแนะนำให้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ที่ส่วนหนึ่งมีประชาชนกังขาถึงความละเอียดอ่อนในประเด็นทางเพศ) ซึ่งสุเพ็ญศรีมองว่า มุมมองที่ธรรมดากว่านั้นอย่างกฎหมายอาญา และกฎหมายแรงงาน เป็นกลไกสำคัญที่ถูกนำมาพูดถึงน้อยอย่างมีนัยยะสำคัญ
.
ผู้เข้าร่วมการเสวนาเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือแบบเร่งด่วน และเตรียมตัวผลักดันประเด็นการพูดคุยในวันนี้ สู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในเบื้องต้น ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การเยียวยา สามารถประสานงานได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ The Publisher ที่มีความตั้งใจจะร่วมผลักดันประเด็นดังกล่าวในฐานะของสื่อมวลชน
.
ทั้งนี้ The Publisher ขอเป็นสื่อกลางในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อเหยื่อผู้ที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากจากการถูกคุกคามทางเพศทุกคน
.