.
แม้ปัจจุบัน “ประเทศไทย” จะได้รับฉายาว่าเป็นเสมือนสยามเมืองยิ้ม ดินแดนที่พร้อมต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองด้วยรอยยิ้ม และความจริงใจ แต่ใครจะรู้ว่าช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลา 2519 จะเกิดเหตุนองเลือดที่คร่าชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชาชน รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ได้รับการชันสูตรพลิกศพไปกว่า 45 ศพ ซึ่งสาเหตุจากการเสียชีวิตมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี ถูกแขวนคอ และถูกเผาจนร่างมอดไหม้จนไม่เหลือเค้าโครงเดิม ซึ่งความเสื่อมโทรมทางกฎหมายของไทยในเหตุการณ์ 6 ตุลา คือ ไม่มีการดำเนินคดีผู้ที่ก่อการล้อมปราบ ก่อความรุนแรง และกระทำการสังหาร
.
.
โดยสถิติไม่เป็นทางการจากมูลนิธิป๋วยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สุดเหี้ยมโหดนี้กว่า 100 ศพ ทั้งที่สามารถระบุตัวตนได้ และไม่สามารถระบุตัวตนได้เลย นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ของสังคมไทย สร้างความสะเทือนขวัญให้กับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ทั้งยังส่งต่อฝันร้ายนั้นมายังยุวชนรุ่นหลังกว่า 47 ปี ซึ่งเกิดจากน้ำมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และประชาชนจำนวนหนึ่ง ร่วมกันต่อต้านนักศึกษาและผู้ประท้วงฝ่ายซ้าย โดยก่อนจะลงมือบุกเข้าไปปราบปรามถึงในสถานศึกษา มีการอ้างว่า นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ชุมนุมกันอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีการซ่องสุมและสะสมอาวุธ มีความคิดล้มล้างระบอบสถาบันและเป็นภัยต่อประเทศ จึงเกิดการเข่นฆ่าปัญญาชนของประเทศชาติอย่างทารุณ
.
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา (พ.ศ. 2516) ทำให้รัฐบาลทหารหมดอำนาจ บ้านเมืองมีบรรยากาศเสรีภาพ และเกิดการเฟื่องฟูของความคิดฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ตลอดจนการประท้วงของกรรมกรและชาวนาอยู่เนือง ๆ ร่วมกับความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง
“กลุ่มฝ่ายขวา” ซึ่งรู้สึกกังวลกับชัยของคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้วิธีการก่อกวนขบวนการฝ่ายซ้ายจนมีผู้เสียชีวิตอยู่หลายโอกาส ขณะเดียวกัน มีฝ่ายกองทัพอย่างน้อยสองฝ่ายพยายามวางแผนให้เกิดรัฐประหารอีกครั้ง
.
โดยฝ่ายหนึ่งใช้วิธีการนำตัว “สามทรราช” กลับประเทศเพื่อหวังให้เกิดสถานการณ์บานปลาย วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 จอมพล ถนอม กิตติขจร เดินทางกลับประเทศ และบวชเป็นภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหารโดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จฯ เยี่ยม นักศึกษาปักหลักประท้วงที่สนามหลวง และย้ายไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน
.
.
ในวันที่ 4 ตุลาคม นักศึกษาจัดการแสดงละคร จากเหตุฆ่าแขวนคอคนงานฝ่ายซ้ายที่จังหวัดนครปฐม โดยในวันที่ 5 ตุลาคม มีการตีพิมพ์ข่าวการแสดงดังกล่าว สื่อฝ่ายขวาประโคมข่าวกล่าวว่าบุคคลที่ถูกแขวนคอนั้นมีใบหน้าคล้ายกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมทั้งโหมปลุกปั่นกระแสข่าวว่านักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องการล้มเจ้า ล้มถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นผลให้กำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัย
.
เหตุการณ์ 6 ตุลาและรัฐประหารเป็นจุดสิ้นสุดของ “ยุคการทดลองประชาธิปไตย” ซึ่งมีอายุไม่ถึงสามปี และกระแสสังคมนิยมเสื่อมลง มีการตั้งรัฐบาลใหม่ที่มี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลมีความคิดขวาจัดและเกิดการกวาดล้างฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรงทำให้บางส่วนหนีไปเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำให้การก่อการกำเริบรุนแรงยิ่งขึ้น การเมืองต่อจากนี้ไม่มีกระทบผลประโยชน์ของชนชั้นนำอีก ไม่มีกระบวนการสอบสวนความจริงและชดเชยแก่ญาติผู้เสียหายของรัฐ มีแกนนำผู้ประท้วง 19 คนถูกฟ้องฐานพยายามก่อจลาจล แต่สุดท้ายรัฐบาลนิรโทษกรรมในปี 2521 รัฐบาลใช้วิธีการปล่อยให้สังคมลืม
.
.
แม้ในตอนนั้นจะอยู่ในยุคที่เทคโนโลยียังไม่เอื้ออำนวยเท่าปัจจุบัน แต่ภาพความเหี้ยมโหดสุดอำมหิตที่มนุษย์กระทำกับมนุษย์ด้วยกัน ได้ถูกบันทึกผ่านภาพถ่ายและวิดีโอ โดยช่างภาพฝีมือฉมังทั้งจากประเทศไทยและจากสำนักข่าวต่างประเทศในขณะนั้น ซึ่งภาพโศกนาฎกรรมเหล่านั้นได้ถูกนำมาเผยแพร่และแชร์วนซ้ำ ๆ อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต ราวกลับคอยย้ำเตือนคนไทยอยู่เสมอ ว่าครั้งหนึ่งความรุนแรงจากการเห็นต่างทางการเมือง การปลุกปั่นยั่วยุโดยสื่อ จุดฉนวนให้เกิดเหตุบานปลาย เหล่านี้มันเคยเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
.