.
ในปัจจุบัน คำว่า Active shooting กลายเป็นคำที่เรามักจะได้ยินได้เห็นบนหน้าสื่อแทบทุกปี เป็นเหตุความรุนแรงที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า ไม่เลือกเวลาและสถานที่ ซึ่งทุกคนมีโอกาสตกเป็นผู้ได้รับความเสียหายในร่างกายและจิตใจ หากเข้าไปอยู่ในที่เกิดเหตุโดยไม่รู้มาตรการการป้องกันตัว
.
ลักษณะของการก่อเหตุกราดยิงในสถานที่สาธารณะ ยิงทุกคนแบบไม่เลือกเป้าหมาย เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่อยู่ในความขัดแย้ง หรือประเทศที่สามารถครอบครองอาวุธปืนได้อย่างถูกกฎหมาย ซื้อง่ายขายง่าย และเมื่ออาวุธปืนอยู่ในมือของผู้ที่มีความผิดปกติทางสภาพจิตใจ มีพฤติกรรมความรุนแรง มีความประสงค์ร้าย หรือมีทักษะและประสบการณ์ในการใช้อาวุธต่าง ๆ อย่างเชี่ยวชาญ หากบุคคลที่ครอบครองอาวุธเหล่านี้เกิดแรงจูงใจในการก่อเหตุขึ้น ก็จะตามมาด้วยเหตุ Active shooting ในรูปแบบที่เราได้เห็นกันตามสื่อ
.
ในระยะหลังมานี้ เหตุการณ์ Active shooting เริ่มเกิดขึ้นในประเทศถี่ขึ้นเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าแทบจะเกิดขึ้นรายปี ตำรวจผู้ทำหน้าที่พิทักษ์สัติราษฎร์จึงต้องดำเนินการเตรียมพร้อมป้องกันและรับมือเหตุในทุก ๆ ด้าน ทั้งร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศที่ศึกษาวิจัยการเกิดเหตุกราดยิง การฝึกฝนยุทธวิธีรับมือเหตุกราดยิง และการให้ความรู้กับภาคประชาชนในการรับมือเหตุกราดยิงในเบื้องต้น เพื่อเอาตัวรอดจากภัยอันตราย
.

.
โดยมาตรการยอดฮิตที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามประชาสัมพันธ์มาโดยตลอด คือมาตรการ “หนี – ซ่อน – สู้” (Run – Hide – Fight) กล่าวง่าย ๆ คือเมื่อเกิดเหตุ ให้หนีเป็นอันดับแรก หากหมดทางหนีทีไล่ ก็ต้องหาที่หลบซ่อนแทน และเมื่ออยู่ในจุดที่ทั้งหนีหรือหลบไม่ได้ ก็ต้องกัดฟันสู้เพื่อเอาตัวรอด โดยผู้เขียนจะขอไม่ลงรายละเอียดในมาตรการดังกล่าว
.
ทั้งนี้การอบรมมาตรการ “หนี – ซ่อน – สู้” ได้ถูกดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ลงพื้นที่อบรมครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาตามสถานศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภาย พนักงานห้างร้านห้างสรรพสินค้า รวมถึงผู้ที่รับผิดชอบอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้ทราบถึงมาตรการดังกล่าว เพื่อรับมือเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว
.

.
องค์ความรู้ในมาตรการ “หนี – ซ่อน – สู้” เหล่านั้นได้ถูกนำมาใช้จริง ในเหตุการณ์ Active shooting ที่เกิดขึ้นในห้างฯ ดังกลางกรุงเทพฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลหน้างานรายงานต่อสื่อมวลชนว่า มีผู้ปกครองเล่าให้ฟังว่าขณะที่เหตุการณ์กำลังดำเนินอยู่นั้น ตัวผู้ปกครองกำลังอยู่ในอาการตกใจ ทำอะไรไม่ถูก ก็มีลูกชายที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา เป็นผู้นำพาผู้ปกครองหนีและหาที่ซ่อน ตามมาตรการ “หนี – ซ่อน – สู้” จนกระทั่งเหตุการณ์สงบลง
.
คำถามที่น่าสนใจอย่างมากคือ เรากำลังอยู่ในยุคที่เยาวชนทุกคนต้องเรียนรู้เกี่ยวกับมาตรการรับมือเหตุกราดยิงจริง ๆ หรือ ?
.
แน่นอนว่าการที่เยาวชนและประชาชนรู้ขั้นตอนการรับมือเหตุร้ายเป็นสิ่งที่ดี แต่ภาพของการที่ประชาชนต้องศึกษาเรียนรู้การป้องกันตัวนั้น บ่งบอกถึงสภาพความไม่ปลอดภัยในปัจจุบัน อันเป็นภาพสะท้อนของการความตึงเครียด ความกดดัน รวมถึงการใช้สื่อที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หรือการซึมซับความรุนแรงผ่านสื่อโซเชียล เกม และโลกเสมือนจริงต่าง ๆ อันเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถาม ว่าเป็นเหตุให้เกิดแรงจูงในในการก่อเหตุรุนแรงหรือไม่
.
คนไทยควรถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านี้อย่างไร จึงจะสามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตขั้นพื้นฐานให้กลับมาเป็นปกติ ?
.