.
แม้กิจกรรมการแปรอักษรในงานประเพณีฟุตบอลจตุรมิตรจะผ่านมาแล้วถึง 3 วัน แต่ประเด็นดราม่าก็ยังคงไม่จบไม่สิ้น หลังมีการออกมาต่อต้านการแปรอักษร ขึ้นสแตนเชียร์ โดยมองว่ามันคือการบังคับและลิดรอนสิทธิ์ของเด็ก ร้อนศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของโรงเรียนทั้ง 4 ประกอบด้วย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย , โรงเรียนเทพศิรินทร์ , โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่างก็ออกมาปกป้องเรื่องดังกล่าวนี้กันทั้งสิ้น
.
ด้าน วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนชื่อดังรางวัลซีไรต์ เองก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงประเด็นดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า “เดิมทีไม่คิดคุยเรื่องนี้ เพราะไม่เห็นว่าเรื่องแค่นี้ทำไมต้องทะเลาะกันหนักหนา แต่นึกได้ว่า มีจุดหนึ่งที่คนถกกันไม่เคยพูดถึง นั่นคือวิธีคิด (thinking process) เมื่อเจอปัญหาแบบนี้
.
ก่อนอื่นขอเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็ไปร่วมแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์โดยไม่ถูกบังคับ ไม่เคยเจอประสบการณ์ตากแดดเป็นวัน หรือถูกห้ามเข้าห้องน้ำ เพราะจะว่าไปแล้ว เทคโนโลยีการแปรอักษรนั้นง่ายมาก ไปนั่งประจำที่ ทำตามคำสั่ง ชูป้ายตามหมายเลข แทบไม่ต้องซ้อมเลย จึงไม่เสียเวลานาน
นั่นคือเมื่อ 48 ปีก่อน เทคโนโลยีการแปรอักษรในสมัยนี้น่าจะง่ายขึ้นด้วยซ้ำ
ฟังเหตุผลของคนที่อยากให้เลิกกิจกรรมนี้คือ กิจกรรมนี้โหด ทรมานเด็ก จับตากแดดเป็นวัน เข้าห้องน้ำไม่ได้ ฯลฯ
วิธีคิดของผมนั้นง่ายมาก คือวิเคราะห์โครงสร้างของปัญหาก่อน ก็จะพบว่า เรื่องนี้แยกเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน แต่เป็นคนละเรื่องกัน
เรื่องแรกคือการทรมานเด็ก เรื่องที่สองคือการเลิกกิจกรรมแปรอักษร
เรื่องแรกกับเรื่องที่สองเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้นใช้ข้อหนึ่งมากำหนดข้อสองไม่ได้ มันจะเป็นตรรกะวิบัติ (fallacy) ที่ใช้เหตุผลของเรื่องหนึ่งไปสรุปอีกเรื่องหนึ่ง
มีตัวอย่างมากมายที่เข้าข่ายนี้ ถ้าใช้ตรรกะแบบนี้ เราก็คงต้องเลิกแทบทุกกิจกรรมในโลก เช่น
พระหนึ่งรูปประพฤติผิดศีล ก็ควรยุบวัดเลย
แม่ค้าคนหนึ่งขายของแพง ควรปิดตลาดเลย
แบตเตอรีรถไฟฟ้าไหม้ ทำให้คนขับตาย ควรยกเลิกระบบรถไฟฟ้า
ฯลฯ
มองแบบนี้ก็จะเห็นปัญหาจริง ถ้ามันเป็นจริงในข้อหนึ่ง คือเด็กถูกบังคับ ถูกทรมานจริง ก็แก้ไขจุดนั้น แล้วค่อยมาพิจารณาข้อสองแยกต่างหากว่า ควรเลิกกิจกรรมแปรอักษรไหม
.
ทีนี้ก็มาถึงข้อที่สอง เราควรเลิกกิจกรรมแปรอักษรไหม
เรื่องนี้มองไม่ยาก ก็แค่ถามว่ามันเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กหรือเปล่า ปลูกฝังค่านิยมที่ดีหรือเปล่า
ถ้ามีประโยชน์ ก็ไม่ควรเลิก ถ้าไม่มีประโยชน์ ก็เลิกเสีย
แต่คำว่า ‘ประโยชน์’ นั้นต้องมองลึก ๆ หนึ่งในประโยชน์เป็นบทเรียนที่นักเรียนทุกคนควรรู้ นั่นคือ “ทุกอย่างในโลกมีราคาของมัน”
ไม่มีดี ๆ อะไรได้มาโดยไม่ต้องออกแรง ความเหนื่อยความลำบากเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
การเรียนหนังสือนั้นลำบาก เพราะถ้าไม่ลำบาก ก็เรียนไม่สำเร็จ ถ้าเลิกก็ไม่มีอนาคต
การนวดแป้งทำขนมปังลำบาก ปวดเมื่อย เพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำขนมปัง
การไปฝึกทหาร ร.ด. ที่เขาชนไก่ ก็เหนื่อยโหด แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกร่างกาย เพื่อทำให้รู้รสชาติของการทำหน้าที่ป้องกันประเทศ หากวันนั้นมาถึง
ในโลกของความจริง เมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ ไปทำงานในโลกข้างนอก จะพบว่างานมากมายมีลักษณะแบบ ‘ทรมาน ถูกบังคับ’ หากไม่ยอมรับกติกานี้ ก็ทำงานไม่สำเร็จ หรืออาจไม่เหลืองานใดในโลกให้ทำ
งานจำนวนมากต้องทำงานโต้รุ่ง ต้องทนง่วง ต้องอดทน ไม่งั้นก็ไม่ได้งาน
นานปีมาแล้ว เจมส์ คาเมรอน สร้างหนังเรื่อง Titanic นักแสดงและทีมงานต้องแช่น้ำเป็นวันๆ เขาจึงบังคับให้นักแสดงสวมผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเข้าห้องน้ำ มันเป็นความโหดของงานที่ไม่มีใครคาดถึงในตอนแรก แต่ก็ต้องทำ
หากเราใช้วิธีคิดว่า อะไรที่ลำบากให้เลิกเสีย เราคงต้องเลิกเกือบทุกกิจกรรมในชีวิต
อย่าว่าแต่ความลำบากก็เป็นเรื่อง subjective สมัยก่อนคนจีนโพ้นทะเลทำงานหนัก ก็ไม่บ่น เพราะรู้ว่าความลำบากทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้
นี่เป็นเรื่องการปลูกฝังทัศนคติ
สำหรับกิจกรรมแปรอักษร มันแตกต่างจากงานอื่นๆ เพราะขณะที่เราทำ เรามองไม่เห็นผลลัพธ์ เราแปรอักษรให้คนอื่นมีความสุข มันจึงฝึกการทำงานแบบปิดทองหลังพระ
สิ่งที่เราต้องถามตัวเองทุกครั้งที่เจอความลำบากคือ กิจกรรมนั้นๆ มีค่าพอให้เราทำไหม
ถ้าชีวิตนี้จะไม่ทนรับความลำบากเลย ต่อไปเมื่อพ่อแม่ชราป่วย เป็นอัมพาต ต้องเช็ดตัวป้อนข้าวให้ทุกวัน ลำบากกว่าแปรอักษรร้อยเท่า ก็จะไม่ทำหรือ
ชีวิตเป็นส่วนผสมของหลายองค์ประกอบ ความสุขกับความทุกข์ ความดีใจกับเสียใจ ความลำบากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราแกร่งขึ้น และหากเราเข้าใจและยอมรับ มันก็เป็นทัศนคติที่ดีในการใช้ชีวิตตลอดชีวิต”
.
พร้อมกับลงชื่อท้ายบทความ วินทร์ เลียววาริณ
.
.