‘พญาอินทรี’ บินโฉม ‘แดนมังกร’ เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมากลายเป็นความระทึกทางการทูตที่ทำให้ทั่วโลกจับตาถึงการเยือนไต้หวันของ ‘แนนซี่ เพโลซี่’ เธอมาไต้หวันทำไม? ทำไมสหรัฐ-ไต้หวัน-จีน…ถึงกลายเป็นทางสามแพร่งบนความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ ?
‘พญาอินทรี’ บินโฉม ‘แดนมังกร’ เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมากลายเป็นความระทึกทางการทูตที่ทำให้ทั่วโลกจับตาถึงการเยือนไต้หวันของ ‘แนนซี่ เพโลซี่’ เธอมาไต้หวันทำไม? ทำไมสหรัฐ-ไต้หวัน-จีน…ถึงกลายเป็นทางสามแพร่งบนความขัดแย้งของการเมืองระหว่างประเทศ?
.
นักเรียน ‘IR’ หรือที่มักรู้จักกันว่า ‘นักเรียนสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ ที่มักพบอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ในมหา’ลัยต่าง ๆ สาขาที่คนมักพูดถึงว่าเรียนเพื่อไปเป็น ‘ทูต’ คงจะติดตามข่าวการเคลื่อนไหวของเครื่องบิน C-40C รหัส SPAR19 ที่เริ่มบินขึ้นจากมาเลเซียเมื่อค่ำวานนี้ก่อนจะมีการบินโฉมเขตทะเลจีนใต้ที่จีนอ้างสิทธิ์อธิปไตย จนผู้คนคาดการณ์ว่าการบินครั้งนี้เหมือนเป็นส่ง ‘สัญญะ’ ทางการทูตกับจีนจากทางสหรัฐฯ เพื่อเป็นการแสดงสัญญะที่พยายามบอกจีนว่าสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้มีท่าทีจะคุกคามอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นปัญหา เพราะหากเราติดตามข่าว คงพอจะรู้ว่าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นประเทศที่จะได้รับความเสียหายที่สุด คือ ไต้หวันเอง
.
ด้านท่าทีจากปักกิ่งก็ร่อนแถลงการณ์ อ้างถึง “เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1978 จีนกับสหรัฐฯได้ออกแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยทางสหรัฐฯ ยอมรับว่ารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวของประเทศจีน และรับรองจุดยืนของจีนซึ่งก็คือ มีแค่ประเทศจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน”
.
ย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง (ราวศตวรรษที่ 10) ดินแดนบนเกาะทางตะวันออกเคยเป็นอธิปไตยของจีนมาก่อน โดยมีหลักฐานเป็นการตั้งหน่วยงานบริหาราชการในเกาะไต้หวัน เพื่อบริหารและปกครอง ครั้งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเกิดความขัดแย้งทางการเมืองในจีน จนกระทั่งเดือนตุลาคม ค.ศ. 1949 มีการตั้ง ‘รัฐบาลกลางแห่งสาธารณรัฐจีน’ กลุ่มอำนาจของก๊กมินตั๋งได้อพยพไปยังเกาะไต้หวันพร้อมตั้งรัฐบาลคู่ขนานขึ้น ก่อนที่สมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติได้ผ่านมติที่ 2758 เมื่อ ค.ศ. 1971 ขับไล่ผู้แทนทางการไต้หวันออกไป โดยมีการตกลงระหว่าง จีน-สหรัฐ ผ่านแถลงการณ์ร่วมด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยทางสหรัฐยอมรับว่า ‘รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐจีน’ บนจีนแผ่นดินใหญ่มีแค่ประเทศเดียว และดำเนินนโยบาย The One China policy ตลอดมา
.
ด้าน ‘แว่นตา’ อย่าง ‘ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ’ ที่มักจะถูกหยิบยกมาอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นการเมืองโลก อาจมองผ่าน ‘สัจนิยม(Realism)’ แนวคิดที่มีพื้นฐานว่าด้วยการมอง ‘รัฐ’ (ประเทศ) เป็นเสมือนมนุษย์ อิจฉา กระหายอำนาจ ทนงในศักดิ์ศรี มีนักคิดที่สำคัญอย่าง Hans Morgenthau ที่พยายามอธิบายถึง ‘อำนาจของชาติ’ ที่เกี่ยวข้องกับ ‘ภูมิศาสตร์’, ‘ทรัพยากร’, ‘สมรรถนะ’, และ ‘ศักดิ์ศรี’ ว่าเป็น 4 สิ่งที่รัฐอธิปไตยต้องเผชิญ ด้วยสภาวะของโลกที่แต่ละรัฐ ที่อาจเปรียบเสมือนคนหนึ่งคน มีกฎหมาย พื้นที่ และเรื่องเชิงอัตลักษณ์ของตนเอง เมื่อมาอยู่รวมกันในเวทีระหว่างประเทศ การที่จะมี ‘บางสิ่ง’ มาควบคุมพฤติกรรมของรัฐที่มีอธิปไตยของตนเองจึงเป็นเรื่องที่ยาก แม้ปัจจุบันจะมีองค์การระหว่างประเทศจำนวนมากที่ถูกตั้งขึ้นทั้งในระดับโลกอย่าง UN หรือในระดับภูมิภาคที่กระจายไปยังหลายกลุ่มความร่วมมือที่มีสายธารมาจากแนวคิดของเสรีนิยม (แบบดั่งเดิม) ที่เชื่อพลังของการร่วมมือกัน แชร์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน ดีกว่าจะใช้วิธีทางอื่นที่อาจนำรัฐไปสู่สนามสงคราม
.
แน่นอนว่าประเทศไทยดำเนินนโยบายทางทูตกับจีนมาอย่างยาวนาน หนึ่งในเอกลักษณ์ของ ‘นโยบายต่างประเทศไทย’ คือรูปแบบที่นักการทูตเรียกว่า ‘ไผ่ลู่ลม’ เอนเอียงไปตามขั้วมหาอำนาจในเวลานั้นอย่าง ‘สมดุล’ ยกตัวอย่างเช่นสมัยรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 เวลานั้นฝั่งตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ ลดบทบาททางการทูตกับไทยลงและเรียกร้องให้มีกระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว เวลานั้นไทยหันไปหาพี่ใหญ่แห่งเอเชียอย่างจีน มีการกระชับความสัมพันธ์และร่วมทางเศรษฐกิจกับจีนตั้งแต่เวลานั้น จนปัจจุบันเราอาจได้เห็นผลพลอยได้จากช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นทรัมป์ ไทยเองไม่ได้นิ่งเฉยกับท่าทีของตนเองที่เอนเอียงเข้าหาจีนมากไป การเดินทางของพลเอกประยุทธ์ฯ ไปเยือนทำเนียบขาวจึงเกิดขึ้นในสมัยของทรัมป์ เพื่อเป็นการแสดงท่าทีทางการทูตว่าสหรัฐฯ ว่าไทยพยายามที่จะรักษาดุลความร่วมมือไว้ เป็นศิลปะทางการทูตที่ไทยไม่ได้เสียทั้งสองมหาอำนาจไป ขณะเดียวกันนโยบายนี้ก็ทำให้ไทยปราศจากคู่ขัดแย้งในระดับเวทีระหว่างประเทศ
.
กรณี จีน-ไต้หวัน และสหรัฐฯ ไทยเองยังคงดำเนินการแบบไผ่ลู่ลม อันเป็นนโยบายที่ผสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะดำเนินการให้เกิดความขัดแย้ง จะเห็นได้ว่าท่าทีของไทยในเวทีโลกมีการพยายามนำทั้งสองคู่ขัดแย้งใช้วิธีทางการทูต ให้ดำเนินผ่านกลไกที่คู่ขัดแย้งจัดการกันเอง อันจะเห็นจากสัญญะของแถลงการณ์ไทยที่เกือบทุกประเด็นในความขัดแย้งมักจะวางตนเองเป็นกลาง ทั้งนี้ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในอินโดจีน หากเราพิจารณาว่าพันธมิตรของสหรัฐฯ อย่าง เกาหลีใต้,ญี่ปุ่น,ไต้หวัน ล้วนเป็นประเทศทางตะวันออกของจีนที่ทับซ้อนกันในเขตทะเลจีนใต้ การเล่นเกมปิดล้อมผ่านการสร้างพันธมิตรทางออกสู่ทะเลเช่นนี้จึงเป็นเรื่องที่เหมือนคนมาปิดทางเข้าประตูบ้านของจีน ท่าทีของจีนที่แข็งก้าวตลอดมาต่อท่าทีสหรัฐฯ จึงไม่ได้ผิดไปจากบริบทความจริงที่เกิดขึ้นนัก
.
ประเทศไทยมีนโยบายต่างประเทศและกลยุทธ์ทางการทูตที่นับได้ว่าเลืองลือในระดับวงการทูตทั่วโลก มรดกตรงนี้เป็นสิ่งที่ไทยควรรักษาไว้ หากจะให้ประเทศสถาพรต่อไป
#ThePublisher#สำนักข่าวออนไลน์เพื่อสังคม
– – – – – – – – – – – – – – – – – –
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Website : https://www.thepublisherth.com