.
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์รูปภาพผ่าน Facebook ส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวของภาวะโลกเดือดที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ปะการังฟอกขาว” มันไม่ใช่เรื่องที่สังคมควรละเลย แต่ควรตระหนักถึงปัญหาและหาวิธีแก้ไข เพราะมันอาจส่งผลร้ายแรงตามมาในอนาคต หากไม่ร่วมมือกันหาทางออก
.
โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า “ความโหดร้ายของโลกร้อนมิใช่แค่ฆ่าปะการังในปัจจุบัน แต่ยังทำลายความหวังในอนาคต ขอใช้ภาพนี้อธิบายให้เพื่อนธรณ์เข้าใจ”
.
“ปะการังมีเกิดมีตาย อาจเป็นเพราะพายุพัดปะการังกลิ้ง อาจเป็นโรคหรือโดนดาวหนามกินจนเกลี้ยง ฯลฯ ช่างน่าสงสารปะการังยิ่งนัก แต่ถึงเธอตาย เธอก็กลายเป็นฐานให้ลูกลงเกาะ เติบโตเป็นปะการังใหม่ ๆ ให้กำเนิดหลาน ๆ ต่อไป นั่นคือวัฏจักรธรรมชาติ Circle of Life ดำเนินมาเช่นนี้แสนนานล้าน ๆ ปี”
.
“ทว่า เมื่อมนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้อุณหภูมิโลกพุ่งเร็วในช่วงเวลาแสนสั้น สายสัมพันธ์ก็ถูกตัดฉับ ปะการังน้อยที่ขึ้นบนร่างแม่ ยังไม่ทันโตก็ฟอกขาวจนตาย แม่ก็ตาย ลูกก็ตาย แล้วจะหาหลานมาจากไหน ? เก่าไปใหม่มา ระบบนิเวศจำเป็นต้องมีสมดุลของการเกิดดับ ไม่มีสถานที่แห่งใดคงอยู่ได้หากมีแต่ดับไม่มีเกิด จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เห็นแล้วรู้ว่า แนวปะการังแห่งนี้แทบหมดหนทางไปต่อ แค่รอเวลาเสื่อมสลาย”
.
.
“ในชีวิตผม เคยเห็นแนวปะการังจากไป เสื่อมสลายจนมิอาจเรียกว่าระบบนิเวศแนวปะการัง สมัยก่อนอาจมีบ้างจากผลกระทบเฉพาะพื้นที่ เช่น ขุดร่องน้ำในแนว ตะกอนทับถมจนตายหมด แต่นั่นคือ 1 ในหลายพันแนว มิใช่เกิดพร้อมกัน มาในระยะไม่กี่ปี เมื่อทะเลเริ่มร้อนจัด อัตราล่มสลายของแนวปะการังเร่งขึ้นหลายเท่า”
.
“ทั้งหมดนั้น เริ่มต้นมาจากภาพนี้ ไม่มีแม่ ไม่มีลูก ไม่มีหลาน ไม่มีการสืบสายพันธุ์ no circle of life ผมพยายามอ่านเอกสารงานวิจัยทั่วโลก เพื่อหาทางออกที่พอจับต้องได้ พอทำได้ในวันนี้ มีหลายทาง แต่ล้วนเป็นทางที่ตีบตัน มันไม่ใช่ประตู เป็นแค่รูเล็ก ๆ รูอาจขยายกว้างเป็นประตูกว้างในวันหน้า แต่วันนี้รูก็คือรู เราช่วยทะเลอย่างที่ใจคิดด้วยรูเล็กๆ เหล่านี้ไม่ได้”
.
“ระหว่างที่พยายามเจาะรูบุกเบิกให้กว้าง ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกล้วนลงเอยด้วยข้อสรุป – การบอกต่อ บอกต่อให้มากที่สุด เพื่อความหวังในการลดก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดในวันนี้ เพื่อให้คนห่วงใยจนลดผลกระทบอื่น ๆ ที่ทำร้ายทะเล เช่น ขยะ น้ำทิ้ง ฯลฯ ชะลอความตาย ยื้อไว้ให้นานสุด ระหว่างรอให้ทางออกในการช่วยเป็นไปได้”
.
“งานของผมจึงไม่ใช่แค่ลงไปในน้ำ แต่ยังรวมถึงการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านทุกสื่อที่ถามมา รวมทั้งเรื่องที่เพื่อนธรณ์อ่านไป จึงหวังในการบอกต่อ เรื่องก่อน เรื่องนี้ เรื่องหน้า ต่อให้มีคนน้อยนิด แต่ถ้าเราอดทนบอกไปเรื่อย ๆ สักวันจะมีคนอ่าน จะมีคนฟัง และจะมากขึ้นเรื่อย นี่ไม่ใช่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ แต่เป็นความจริงของคนที่เริ่มพูดเรื่องโลกร้อนเมื่อ 37 ปีก่อน ใด ๆ ล้วนเป็นไปได้หากคุณไม่คิดจะเลิก เขียน ๆ พูด ๆ อีก 13 ปี ผมก็จะบรรลุสกิลเทพรักโลก – บอกต่อเรื่องโลกร้อนครบครึ่งศตวรรษ มาเริ่มสกิลเทพของคุณตั้งแต่วันนี้ไหมครับ”
.
ขอบคุณรูปภาพและเรื่องราว : Thon Thamrongnawasawat