.
วนกลับมาอีกครั้ง กับวันครบรอบเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย 6 ตุลาคม 2519 ที่สื่อแทบทุกสำนัก และบุคคลต่าง ๆ ในขบวนการต่อสู้เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต่างต้องหยิบเหตุการณ์ในวันดังกล่าวมารำลึกถึง ถอดบทเรียน และใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแสดงจุดยืนอยู่ทุกปี… ปีนี้เองก็เช่นกัน
.
เหตุการณ์โศกนาฏกรรมในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งและความเกลียดชังผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง ในระดับที่ไม่ได้มองคนเห็นต่างเป็นมนุษย์ และกระทำต่อพวกเขาอย่างทารุณ ด้วยความรู้สึกสนุกสนาน สะใจ
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งและความเกลียดชังอย่างรุนแรงนั้น มี “เบื้องลึกเบื้องหลัง” และการปลุกปั่นทางความคิด ที่ใช้วิธีการ “การตลาดการเมือง” สร้างอัตลักษณ์ความเป็น “คนดีกับคนเลว” ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการสร้างขั้วตรงข้ามในรูปแบบของ “ธรรมกับอธรรม” เพื่อหลอมแนวร่วมจากมวลชน ในการสร้าง “คอมมิวนิสต์” เป็นมหาวายร้าย และภัยคุกคามของชาติ
.
.
การสร้างขั้วตรงข้ามแบบขาวดำเช่นนี้ มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้ที่มีความคิดและความเชื่อทางการเมืองตรงกันข้าม และถูกนำไปให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงทั้งทางกายและวาจาโดยที่ไม่รู้สึกผิด เพราะเชื่อว่าตนกำลังต่อสู้ในภารกิจที่สูงส่งในการปกป้องชาติ และกำจัดคนเลว การใช้มาตรการทุกวิถีทางรวมทั้งความรุนแรงเพื่อโค่นล้มแนวคิดของผู้เห็นต่าง ด้อยค่าฝ่ายตรงข้ามเป็นคนไร้ศีลธรรมไร้สติปัญญา และมีสถานะต่ำกว่า สร้างระเบียบทางสังคมและการเมืองที่ตั้งอยู่บนฐานศีลธรรมอันดีงามและการเมืองที่กำกับควบคุมโดยคนดี
.
เวลาผ่านไป 47 ปี การจัดการปัญหาความขัดแย้งก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แม้จะไม่มีภาพความเหตุการณ์ความรุนแรงให้เห็นแบบในอดีตแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความขัดแย้งในการเมืองไทยในปัจจุบันยังคงรุนแรง และยังคงมีการใช้ “การตลาดการเมือง” ไม่ต่างจากในอดีต เปลี่ยนไปก็เพียงแต่บริบททางยุคสมัย
.
หลักศีลธรรมที่เป็นเครื่องหมายของ “คนดี” ในอดีต ปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็น “หลักสิทธิมนุษยชน” แทน ผู้คนยังคงถือหลักการของตัวเองไปกระทำการ “ล่าแม่มด” ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นการ “ไลฟ์สด” ประจานผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง การ “ทัวร์ลง” แสดงความคิดเห็นด้วยค่าด้วยถ้อยคำหยาบคายใส่ผู้ที่แสดงความคิดเห็นไม่ถูกใจตน ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนมีต้นตอมาจากการใช้ “การตลาดการเมืองแบบคนดี-คนเลว”
.
ถามว่าความรุนแรงเคยหายไปจากสังคมการเมืองไทยหรือไม่ ? หรือเพียงแต่วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามบริบทของสังคมเท่านั้น ทั้งนี้ ก็ต้องตั้งคำถามต่อสังคมไทย ว่ามีความ educate แค่ไหน ต่อคำว่า “การตลาดการเมืองแบบคนดี-คนเลว”
.