น.ศ.จีนแห่สมัครเรียน ป.ตรี-โท-เอก คึกคัก “ธุรกิจบัณฑิตย์-ม.รังสิต-กรุงเทพธนบุรี” ย้ำ น.ศ.จีนเชื่อมั่นระบบการศึกษาไทย พร้อมเตรียมแผนเปิดเทอมเป็นทางการ พ.ย.นี้ เพิ่มมาตรการพิเศษกำหนดจำนวนคนเข้าเรียนลดความเสี่ยง ด้าน ก.อว.เตรียมออกกฎดูแลคุณภาพเรียนออนไลน์
.
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรม และการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่ส่งผกระทบต่อนักศึกษาจีนที่มาเรียนที่ มธบ. เพราะมีการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ต่อเนื่อง ตั้งแต่ 100-1,000 คน และไม่พบนักศึกษาเดิมลาออกแต่อย่างใด เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในหลักสูตรการเรียนของมหาวิทยาลัย แม้จะเรียน และสอบผ่านออนไลน์ 100%
.
ในขณะนี้ ส่วนการเรียนภาคปฏิบัติใช้วิธี “โยก” ไปเรียนช่วงท้ายเทอมที่คาดว่าสถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายลงแล้ว รวมถึงสอบรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด
สำหรับข้อกังวลด้านคุณภาพการเรียนต้องยอมรับว่าในภาวะที่ไม่ปกติกระทบแน่นอน ฉะนั้นอธิการบดี มธบ. (ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์)
.
จึงมีนโยบายว่าอาจารย์ต้องมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น หากนักศึกษามีปัญหาด้านการเรียน หรือปัญหาอื่นช่วงที่เรียนในมหาวิทยาลัย อาจารย์ต้องแนะนำวิธีแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันที และที่ผ่านมา มธบ.เตรียมเปิดการเรียนการสอนตามปกติ (onsite)
.
พร้อมผนวกมาตรการพิเศษด้วยการกำหนดจำนวนนักศึกษาต้องไม่เกิน 20-25 คนต่อคลาส อาจารย์แต่ละภาควิชาต้องตรวจเช็กการเข้าเรียนต่อเนื่อง จากมาตรการดังกล่าวทำให้นักศึกษาจีนและไทยยังสนใจสมัครเรียนเพิ่ม
.
โดยเฉพาะปีในปี 2564 ไม่ต่ำกว่า 1,000 คน (เฉพาะนักศึกษาใหม่) เพิ่มขึ้นเทียบกับปี 2563 อยู่ที่ 800 คน และปี 2562 ที่ 700 คน
.
“ไม่เพียงแต่วิธีการเรียนการสอนที่ดีแล้ว มธบ.ยังพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาด้วยส่งผลให้ได้รับการยอมรับจากนักศึกษาต่างชาติเพิ่มขึ้น มีนักศึกษาจีนใน มธบ.สะสม ราว 3,000 คน
.
ด้วยคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพหลักสูตรที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัย และนวัตกรรมมีการรับรองมาตรฐานแล้ว ทั้งการสร้างคน เราไม่ได้ให้แค่ความรู้เฉพาะทางแต่ให้ความรู้เพิ่มแบบที่ตลาดงานต้องการ เพื่อให้นักศึกษาเรียนจบแล้วมีงานทำทันที”
.
ด้าน ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อิน คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน และรองผู้อำนวยการสถาบันไทย-จีนมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า แม้จะสอนด้วยระบบออนไลน์ 100% อย่างเช่น เทอม 1 ปีการศึกษา 2564 ก็ยังมีนักศึกษาจีนเข้ามาสมัครเรียน
.
ประมาณ 250 คน และในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ จะเปิดการเรียนการสอนปกติ และมีการวางแผนจัดตารางสำหรับนักศึกษาภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยยึดตามมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในสถาบันการศึกษา
.
ขณะที่ ดร.โอฬาร กาญจนากาศ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษานานาชาติ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (BTU) กล่าวว่า ในปี 2564 มีนักศึกษาจีนสนใจสมัครเรียนมากขึ้น ทั้งในระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยเฉพาะในสาขาบริหารการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์ที่สมัครเข้ามาเรียนต่อ เพื่อปรับวิทยฐานะ รวมกว่า 400 คน โดย BTU มีนักศึกษาจีนรวมทั้งสิ้น 1,600 คน
.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เดิมรูปแบบการเรียนการสอนทุกระดับ ไม่มีกฎหมายรองรับ และการกำกับดูแล ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
จึงดำเนินการร่างประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และโดยวิธีอื่น พ.ศ. 2564 อาศัยความในมาตรา 6
.
และมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา และมาตรา 59 พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ว่าด้วยแนวปฏิบัติในการจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับรายวิชา ระดับปริญญาทุกสาขาวิชา ต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนด
.
ในหลักการคือ ไม่ว่าเรียนจบด้วยวิธีการ ต้องมีคุณภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ใน 2 ระดับ คือ
.
1.ระดับหลักสูตรพิจารณาจากจำนวนรายวิชาที่มีการเรียนการสอนเกินกว่า “กึ่งหนึ่ง” ของจำนวนหน่วยกิตในหลักสูตร ถือเป็นการเรียนออนไลน์จึงต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์เงื่อนไข 5 มิติ ประกอบด้วยศาสตร์การสอน, การออกแบบเนื้อหา, การออกแบบกิจกรรมการเรียน, การออกแบบการวัด และประเมินผล
.
2.ระดับรายวิชาพิจารณาจากการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ตามคำนิยามของการเรียนรู้ออนไลน์ หากจัดการศึกษาผ่านออนไลน์เกิน 40% ของเนื้อหา กิจกรรมและการประเมินผล