นายปกรณ์ ปรียากร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ ของสถาบันพระปกเกล้า เรื่อง ส่องอนาคตการเมืองไทย เพื่อประชาธิปไตยที่ยั่งยืน กล่าวตอนหนึ่งโดยตั้งคำถามว่าประชาธิปไตยที่ยั่งยืน คืออะไร
คือ อุดมการณ์ อุดมธรรมของประเทศไทย ทั้งนี้ประเทศผูกติดที่ทางสายกลาง ไม่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง เห็นได้จากที่บางพรรคการเมืองอยู่ไม่รอดเพราะครองที่นั่งมหาศาล แต่ตัดประชาชนออกไป ใช้การสั่งการแบบซีอีโอจังหวัด ไม่เป็นธรรมชาติของการเมืองภาคประชาชน เพราะใช้เอกชนนำประชาชน
.
“ดังนั้นฉากทัศน์การเมืองต้องหาตัวแทนของประชาชนร่วมพูดคุย ส่วนการพัฒนาทางการเมืองในสภาฯ นั้น ตนมองว่ามีความเข้มแข็งในตัว แต่จะมีสะดุดบ้างเพราะประชาชนเข้มแข็ง และทำให้พรรคการเมืองตื่นตัว จากสถานการณ์โควิด-19 เห็นชัดเจนว่าประชาชนมาก่อนนักการเมือง” นายปกรณ์ กล่าว
.
ส่วนนายนิยม รัฐอมฤต ฐานะคณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า หลายคนอยากได้ประชาธิปไตยที่พึงปรารถนา แต่ตนเชื่อว่าเมื่อได้ประชาธิปไตยแล้วยังมีปัญหา เพราะพลเมืองไม่มีคุณภาพ ดังนั้นประชาธิปไตยที่ดีต้องได้พลเมืองที่มีคุณภาพ ไม่เช่นนั้นการปกครองจะไร้ระเบียบ กลายเป็นอนาธิปไตย
.
สำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตนมองว่าต้องสร้างเครื่องมือและมีรูปแบบที่ชัดเจน รวมถึงเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การบรรลุความสำเร็จ อย่างประเทศตะวันตกที่มีประชาธิปไตยที่พอยอมรับได้ ก่อนหน้านี้คือเผด็จการแต่มีความได้เปรียบทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จึงใช้เพื่อกอบโกยทรัพยากรจากประเทศที่ไม่พัฒนา
.
นายนิยม กล่าวด้วยว่า การเมืองไทยปัจจุบันมีสภาพรวมศูนย์ที่รัฐบาล พรรคการเมืองรวมศูนย์อำนาจที่หัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรค ราชการรวมศูนย์ที่กทม. เศรษฐกิจรวมศูนย์ที่นายทุน บริษัทใหญ่
อีกทั้งประชาชนไม่แข็งแรง ดังนั้นภาพการเมืองสะท้อนสภาพการรวมศูนย์ในสังคมไทย การสร้างประชาธิปไตยอาจล้มเหลวและผิดหวัง หากคิดว่าประชาธิปไตยคือเสรีภาพ และอิสระของประชาชน หากคุมไม่ได้ต้องระวัง
.
ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวในงานดังกล่าวด้วยว่า การจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เคยถามนักการเมือง ทำให้กำหนดรายละเอียดที่ไม่เข้าใจการเมือง เช่น กำหนดให้พรรคทำเลือกตั้งขั้นต้น (ไพรมารี่โหวต) หรือให้สมาชิกพรรคการเมืองชำระค่าเป็นสมาชิกพรรค
.
ทั้งที่ประชาชนไม่ได้อะไรจากพรรคการเมือง แต่ต้องมาเสียเงินอีก ดังนั้นเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกเปลี่ยนแน่นอน
.
.