“ขอร่ำรำพรรณบรรยาย ความคิดเครื่องหมายแห่งสีทั้งสามงามถนัด
ขาว คือบริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์ที่พึ่งคุ้มจิตไทย
แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้เพื่อรักษะชาติศาสนา
น้ำเงิน คือสีโสภา อันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึ่งเป็นสีธงที่รักแห่งเราชาวไทย
ทหารอวตารนำไป ยงยุทธ์วิชัยวิชิตก็ชูเกียรติสยาม ฯ”
.
เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกาศให้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติไทย
.
“ธงไตรรงค์” กำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี เมื่อ พ.ศ. 2459 ครั้งนั้นราษฎรแสดงความจงรักภักดีและปลื้มปีติในการเสด็จฯ ด้วยการพยายามจะหาธงทิวซึ่งขณะนั้นเป็นธงรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลางธงมาประดับประดาเพื่อรับเสด็จ
.
แต่ด้วยธงชาติมีราคาแพงและหาได้ยาก จึงได้นำผ้าทอสีแดงขาวมาห้อยหรือจีบเป็นรูปสวยงามประดับอยู่ตามทางเสด็จฯ เหตุการณ์ดังกล่าวที่ทำให้ทรงสะเทือนพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก
.
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงครุ่นคิดถึงเรื่องราวและภาพที่ทรงผ่านพบอยู่ตลอดเวลา จึงทรงปรึกษากับเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ในพระราชสำนักถึงการที่จะแก้ไขธงไทยเสียใหม่ โดยทรงใช้หลักการสำคัญคือ คำนึงถึงเศรษฐกิจของราษฎรเป็นข้อแรก
.
พระองค์ทรงตระหนักพระทัยว่า ธงช้างนั้นเป็นภาพพิมพ์ที่ต้องส่งมาจากต่างประเทศจึงมีราคาแพง ราษฎรไม่สามารถจะซื้อหามาไว้ใช้ประจำบ้านได้ ข้อต่อไปคือต้องมีความหมายและความสง่างาม เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจรวมใจผู้คนให้ยึดมั่นร่วมกัน
.
ทรงทดลองในครั้งแรกโดยใช้ผ้าชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงขาวสลับกันเป็น 5 ริ้ว วิธีทำก็ง่าย วิธีใช้ก็ง่าย เพราะจะใช้ด้านไหนก็ได้ไม่ต้องกลัวจะติดผิดทางเหมือนธงช้าง ทรงใช้ธงแดงขาว 5 ริ้วนี้ชักขึ้นที่สนามเสือป่าเป็นครั้งแรก
แต่เมื่อทางพิจารณาดูแล้วไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย เพราะดูจืดชืดไม่งดงามจับตา จึงทรงคิดที่จะหาวิธีที่จะตกแต่งให้งดงามและได้ลักษณะสมพระราชประสงค์
.
ทรงรำลึกถึงสีน้ำเงินอันเป็นสีแห่งวันพระราชสมภพ ซึ่งยึดถือเป็นสีประจำพระองค์อยู่แล้ว และจัดวางรูปริ้วผ้าใหม่โดยนำริ้วสีน้ำเงินที่ใหญ่เป็น 2 เท่าของสีขาวและสีแดงไว้ตรงกลางขนาบด้วยสีขาวทั้งล่างและบน มีสีแดงอยู่ริม 2 ข้าง
.
พระราชทานความหมายไว้ว่า สีแดง หมายถึงชาติซึ่งคนไทยทุกคนต้องรักษาไว้โดยแม้จะต้องสละเลือดและชีวิต สีขาว คือศาสนาซึ่งบริสุทธิ์ดุจสีขาว ส่วน สีน้ำเงิน หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์
.
หลังจากนั้นโปรดให้ทดลองนำขึ้นสู่เสา ดูสง่างาม และมีความหมายแสดงสัญลักษณ์ของชาติไว้อย่างครบถ้วนตามพระราชประสงค์ เป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้พระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์”
.
ต่อมาในปี พ.ศ.2560 สำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย โดยให้เริ่มในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2560 เป็นปีแรก เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี
โดยประเทศไทยนั้นถือเป็นประเทศที่ 54 ของโลกที่มีวันธงชาติ และการกำหนดวันธงชาติของทุกประเทศ ล้วนอิงกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ รวมไปถึงความเป็นมาในการสร้างชาติของแต่ละประเทศ
.
.