สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสากล ประเทศอังกฤษ Quacquarelli Symonds (QS) ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ประจำปี 2022 (QS Graduated Employability Rankings 2022) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา
.
พิจารณาจากคุณภาพบัณฑิตและการจ้างงาน ซึ่งพบว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ถูกจัดลำดับให้เป็นสถาบันการศึกษาอันดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นที่ 1 ของประเทศไทย ควบคู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
ส่วนในระดับโลก มธ. ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอันดับที่ 141-150 เลื่อนขึ้นมาสูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในกลุ่มอันดับ 171-180
.
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. เปิดเผยว่า ในปี 2022 สถาบัน QS ได้จัดลำดับมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก รวม 786 แห่ง โดย มธ. ได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการบรรลุตัวชี้วัดทั้ง 5 ด้าน ได้แก่
.
1. ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจากผู้จ้างงาน (Employer Reputation)
2. ความสำเร็จของศิษย์เก่า (Alumni Outcomes)
3. บทบาทและความร่วมมือกับภาคธุรกิจ (Employers-student Connections)
4. ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับนายจ้าง (Partnerships with Employers)
5. อัตราการจ้างงานของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา (Graduate Employment Rate)
.
รศ.เกศินี กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ มธ. ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับ 3 ของอาเซียน คือความก้าวหน้าใน 3 ด้านสำคัญ ซึ่งสะท้อนผ่านคะแนนที่ได้รับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ได้แก่
.
1. ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจากผู้จ้างงาน คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 23.1 ในปี 2020 เป็น 29.1 ในปี 2022
2. ความสำเร็จของศิษย์เก่า คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 75.7 ในปี 2020 เป็น 81 ในปี 2022
3. ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับนายจ้าง คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 9.5 ในปี 2020 เป็น 19.2 ในปี 2022
.
“หากเปรียบเทียบผลการจัดอันดับย้อนหลังกลับไป 3 ปี จะพบว่าธรรมศาสตร์ได้รับคะแนนดีขึ้นในทุกมิติ สะท้อนถึงคุณภาพของมหาวิทยาลัยในด้านวิชาการ ซึ่งไม่เพียงแต่วิชาการดีเลิศหากแต่ยังให้ความสำคัญกับรับใช้สังคมและประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ดิฉันมั่นใจว่าในปีหน้า เราจะได้รับการจัดอันดับในตำแหน่งที่ดีขึ้นอีก ซึ่งหมายถึงชื่อเสียงและการยอมรับของประเทศไทยในเวทีโลก” รศ.เกศินี กล่าว.
.
.