.
“หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด หรือ Robotic surgery” ถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตามองและยังเป็นเทรนด์ที่อยู่ในกระแสมาตั้งแต่ช่วงปี 2560 ซึ่งระบบของหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด ได้รับการรับรองทางการแพทย์ และมีการนำเข้ามาใช้งานจริงในโรงพยาบาลชั้นนำของไทยคือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่มีชื่อว่า “ดาวินชี (da Vinci Xi)” ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดีในหลายโรคด้วยกัน เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะมะเร็งตับอ่อน โรคทางเดินน้ำดีอุดตันจากนิ่ว มะเร็งทางเดินน้ำดี โดยเฉพาะผู้ป่วยภาวะอ้วน รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยสูงวัยที่มีโรคซับซ้อน โดยมีคุณสมบัติในการเข้าถึงอวัยวะขนาดเล็กภายในเพื่อทำการผ่าตัดและเย็บแผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำ ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย พร้อมช่วยลดความเจ็บปวดและระยะเวลาพักฟื้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 14 เครื่อง หนึ่งในนั้นตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี
.
และเนื่องจากในการใช้งานหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในแต่ละครั้งจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยหลายคนจึงไม่สามารถเข้าถึงโอกาสนี้ได้ แต่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีมูลนิธิรามาธิบดีฯที่คอยให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยยากไร้ในเคสที่จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยผ่าตัดเพราะมีความซับซ้อนของโรค เช่น ในกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะจะมีค่าเฉลี่ยของเวลาในการผ่าตัดแต่ละครั้งอยู่ที่ 8-9 ชั่วโมง และแพทย์ในประเทศไทยที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ก็มีจำนวนจำกัดเช่นกัน แต่หากมีหุ่นยนต์ผ่าตัดเข้ามาก็จะช่วยลดเวลาในการผ่าตัดลงเหลือที่ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ผู้ป่วยเองก็มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้นเช่นกัน
.
.
ทั้งนี้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชี (da Vinci Xi) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีอยู่ในตอนนี้ถือเป็นรุ่นที่มีการใช้งานมาแล้วมากกว่า 10 ปี และในขณะนี้มูลนิธิรามาธิบดีฯมีการจัด “โครงการระดมทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” เพื่อระดมทุนในการซื้อหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดดาวินชีรุ่นใหม่มูลค่า 130,000,000 บาท โดยเล็งเห็นประโยชน์ว่าหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่ทันสมัยนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาและวิจัยให้ได้องค์ความรู้นำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมการผ่าตัดแบบบาดเจ็บรุนแรงน้อย
.
และการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดที่มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ ขณะเดียวกันต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดมากขึ้น จนส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลงเป็นลำดับต่อไป และท้ายที่สุดผู้ป่วยได้รับสิทธิการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเช่นเดียวกับการรักษาโรคซับซ้อนหลายประเภทที่สามารถเบิกจ่ายได้บางส่วนในปัจจุบัน อาทิ การปลูกถ่ายตับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตรวมถึงโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย
.